xs
xsm
sm
md
lg

คร.เตือนคนป่วยเลี่ยงงานบุญเข้าพรรษา หวั่นแพร่เชื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คร.แนะพกยาสามัญ และยารักษาโรคให้พร้อม ระหว่างเดินทางในช่วงหยุดยาวเข้าพรรษา หากไม่สบายควรหลีกเลี่ยงการอยู่รวมกันจำนวนมาก ป้องกันการรับและแพร่เชื้อ

วันนี้ (2 ส.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลเข้าพรรษา จะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา และมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัยควรต้องมีการเตรียมตัวก่อนออกเดินทาง โดยควรวางแผนการเดินทางให้พร้อม ตรวจเช็กรถและคนขับ โดยรถต้องพร้อมใช้งาน ลมยาง หรือน้ำมัน ต้องพอดีกับการเดินทางไกล ส่วนคนขับต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญ ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮลล์ทุกชนิด หรือรับประทานยาที่ทำให้ง่วง และขับรถด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจร

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับบุคคลที่ต้องนั่งกระบะหลังรถ หากเดินทางในเวลากลางวัน อากาศจะร้อนถึงร้อนจัดในบางช่วงเวลา ขอให้ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมหมวกมีปีกและใส่แว่นกันแดด หรือใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF15 ขึ้นไป เพื่อป้องกันแสงแดดและรังสีอุลตราไวโอเลต (รังสียูวี) ระหว่างการเดินทางหากปวดปัสสาวะไม่ควรอั้นไว้นาน ควรหาจังหวะแวะเข้าห้องน้ำตามปั้มน้ำมันทันที โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักปวดปัสสาวะบ่อย ซึ่งไม่ควรอั้นไว้ เนื่องจากจะทำให้เกิดปัญหาทางเดินปัสสาวะอักเสบติดเชื้อได้

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในการเดินทางควรมียาพื้นฐาน หรือยาสามัญติดรถไว้สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น พาราเซตามอลลดไข้ ทั้งชนิดเม็ดและน้ำเชื่อม ยาแก้แพ้ซึ่งสามารถลดน้ำมูก และใช้แก้คันได้ด้วย ยาลดกรดชนิดน้ำซึ่งออกฤทธิ์ได้ดีกว่าชนิดเม็ด ผงเกลือแร่ ผงถ่านกรณีท้องเสีย ยาแก้เมารถ ยาแก้ปวดเมื่อย และอุปกรณ์ทำแผล เป็นต้น และที่สำคัญควรเตรียมยาในส่วนของผู้สูงอายุให้พร้อม เพราะส่วนใหญ่จะมีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว ซึ่งยาของผู้สูงอายุจะมียาที่ต้องกินเป็นประจำและต้องเตรียมยาในปริมาณที่เพียงพอ ส่วนการรับประทานอาหาร ผู้ปรุงอาหารต้องปรุงอาหารให้ “สุก ร้อน สะอาด” ส่วนผู้บริโภคต้อง “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ” หากเป็นอาหารถุงอาหารกล่อง ต้องรับประทานภายใน 4 ชั่วโมงหลังปรุงสุก เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคอาหารเป็นพิษ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวด้วยว่า ในเทศกาลงานบุญต่างๆ จะมีประชาชนอยู่รวมกันตามวัด หรือสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมาก อาจเป็นโอกาสให้ติดเชื้อจากโรคต่างๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม เป็นต้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ถ้ามีอาการป่วยหรือไม่สบายอยู่แล้วควรพักอยู่บ้าน ไม่ควรไปในสถานที่แออัดหรือมีคนอยู่จำนวนมาก เพราะอาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อและรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย หากจำเป็นต้องไปหรือเดินทาง ควรใช้หน้ากากอนามัยปิดปากไว้เสมอ ส่วนการเดินทางเข้าวัดทำบุญตามประเพณี ควรมีการระมัดระวังและหลีกเลี่ยงในการเข้าไปในสถานที่ที่มีควันธูปจำนวนมากและมีสภาพแออัดคนอยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพ โดยเกิดอาการหลายอย่าง เช่น เกิดอาการระคายเคืองตา น้ำตาไหล ตาแดง หายใจลำบาก อึดอัด แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคหัวใจ จะกระตุ้นให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นได้

“สำหรับการร่วมทำบุญเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชาค่ำคืนนี้ ขอแนะนำให้ประชาชนร่วมกิจกรรมด้วยความระมัดระวัง ในเรื่องของเทียนไฟและธูปที่จุดแล้ว โดยเทียนอาจจะหยดใส่ตัวหรืออวัยวะต่างๆ ได้ ส่วนธูปให้ระวังไฟจี้ระหว่างการเดินเวียนเทียน และไม่ควรเดินติดหรือชิดกันมากเกินไป อาจเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ทำให้ได้รับบาดเจ็บได้” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น