xs
xsm
sm
md
lg

พกของมีตราบุหรี่เสี่ยงเป็นนักสูบหน้าใหม่ 4.1 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลวิจัยต่างประเทศ ชี้ เด็กครอบครองสิ่งส่งเสริมบุหรี่ เพิ่มโอกาสเป็นนักสูบหน้าใหม่มากกว่าเด็กไม่มี 4.1 เท่า ผลสำรวจพบในไทยวางขายเกลื่อนทั่วกรุง โดยเฉพาะที่จุดบุหรี่ และกล่องใส่บุหรี่ ย้ำ ผิดกฎหมายควบคุมยาสูบ เสี่ยงโทษปรับ 2 แสนบาท จี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ

วันนี้ (31 ก.ค.) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย แถลงข่าว “สิ่งของเพื่อส่งเสริมบุหรี่มีขายเกลื่อนกรุง หวั่นเด็กไทยเป็นนักสูบเพิ่ม” จัดโดยสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย (สสท.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) ว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชาชน มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่หลังจากปี 2550 ได้เริ่มทรงตัว และพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเยาวชนอายุ 15-18 ปี เพิ่มจาก ร้อยละ 6.44 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 7.62 ในปี 2552 และกลุ่มอายุ 19-24 ปี เพิ่มจากร้อยละ 20.9 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 22.1 ในปี 2552 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าวิตกอย่างมาก นอกจากนี้ ยังพบว่า สาเหตุที่ทำให้เยาวชนมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากการจำหน่าย จ่ายแจกสิ่งของต่างๆ ที่ส่งเสริมบุหรี่ (Cigarette Promoting Items : CPI)
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.หทัย กล่าวอีกว่า จากการวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่า เยาวชนไทยอายุ 13-15 ปี จะมีสิ่งของที่ส่งเสริมบุหรี่อยู่ประมาณร้อยละ 9 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศใกล้เคียงแล้ว ถือว่าประเทศอื่นมีน้อยกว่า เช่น ศรีลังกา มีประมาณร้อยละ 5 ขณะที่ผลวิจัยในสหรัฐอเมริกา จากเยาวชนเกรด 6-12 จำนวน 1,265 คน พบว่า 1 ใน 3 ของจำนวนนี้เป็นเจ้าของสิ่งส่งเสริมบุหรี่ และเมื่อติดตามต่ออีก 2 ปี จะกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่มากกว่าเยาวชนที่ไม่มีสิ่งส่งเสริมบุหรี่ 4.1 เท่า

เยาวชนผู้เป็นเจ้าของ CPI มีแนวโน้มสูงที่จะเข้ามาเป็นนักสูบหน้าใหม่มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ครอบครองสิ่งเหล่านี้ และหากปล่อยให้มีเปอร์เซ็นต์การครอบครองเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้มีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทั้งในเด็กแลผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ จึงออกกฎห้ามมิให้มีการจำหน่ายจ่ายแจก CPI โดยสิ้นเชิง ประเทศไทยมีกฎหมายที่สามารถนำมาใช้ได้ จึงควรดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล” ประธานส่งเสริมสถาบันสุขภาพไทย กล่าว

รศ.ดร.วันเพ็ญ แก้วปาน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัยเรื่องสิ่งของี่ส่งเสริมการขายบุหรี่ กล่าวว่า สิ่งของที่ส่งเสริมบุหรี่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ เพราะเป็นการส่งเสริมการตลาด ซึ่งจากการดำเนินการวิจัยเชิงสำรวจ สิ่งของที่มีตราผลิตภัณฑ์ยาสูบที่วางจำหน่ายในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2554 โดยจุดสำรวจเป็นร้านค้าหาบเร่แผงลอย ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป รวม 15 จุด ได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ประตูน้ำ สยาม สีลม มาบุญครอง สุขุมวิท จตุจักร ถนนข้าวสาร คิงเพาเวอร์ เซ็นทรัล สำเพ็ง คลองถม เยาวราช บางแค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และสะพานพุทธ ผลการวิจัย พบว่า มีการจำหน่ายสินค้าที่มีตราผลิตภัณฑ์ยาสูบทั้งหมด 9 ชนิด ได้แก่ เสื้อยืด ที่จุดบุหรี่ กล่องใส่บุหรี่ หมวก สติกเกอร์ เสื้อแจ๊กเก็ต พวงกุญแจ แม็กเนต และ 3D Puzzle โดยสินค้าที่พบมากที่สุด คือ ที่จุดบุหรี่ และ กล่องใส่บุหรี่ ยี่ห้อที่พบมากที่สุด คือ Marlboro

รศ.ดร.วันเพ็ญ กล่าวอีกว่า สินค้าเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมายตามมาตรา 8 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ที่ระบุว่า ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือแสดงชื่อเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้ ซึ่งการผลิตสินค้าที่มีตราเหล่านี้เข้าข่ายเป็นสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้ ผู้กระทำความผิดจะมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท แต่จากการสอบถามผู้ขายและผู้ซื้อส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าเป็นสินค้าผิดกฎหมาย จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ดำเนินการควบคุมปราบปรามอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้สินค้าเหล่านี้ทำให้เด็กและเยาวชนกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่

ด้าน รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สิ่งของส่งเสริมบุหรี่นี้อาจดำเนินการให้ลดลงได้ด้วยวิธีการ 2 วิธี คือ การให้ความรู้แก่ผู้ขาย และการปราบปรามด้วยการใช้กฎหมาย เนื่องจากผู้ขายไม่ทราบว่าสินค้าของตนผิดกฎหมาย ราชการควรให้ความรู้แก่ผู้ขายเป็นวงกว้าง ขั้นต่อไปคือ การตรวจตราและตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร สุดท้ายคือการจับกุมและปรับ ตามความผิด พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 มาตรา 8 ซึ่งต้อระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น