พบกลุ่มตะวันออกกลางเข้าใช้บริการทางการแพทย์ในไทยเพิ่มขึ้น สบส.เล็งขยายเวลาให้อยู่เมืองไทยเพิ่มเป็น 90 วัน เพื่อรองรับการเป็นเมดิคัลฮับ พร้อมร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเสนอ ครม.พิจารณา
นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า บริการทางการแพทย์เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (เมดิคัลฮับ) โดยสบส.ได้เสนอให้มีการขยายเวลาพำนักในประเทศไทยจาก 30 วัน เป็น 90 วัน กรณีที่เดินทางเข้ามาเพื่อรับการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัฐกาตาร์ รัฐคูเวต รัฐสุลต่านโอมาน และรัฐบาห์เรน เนื่องจากประเทศเหล่านี้ให้ความนิยมในการเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย พร้อมครอบครัวจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และอยู่ในประเทศไทยต่อแบบระยะยาว สามารถสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจหลักและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญ ยังไม่ปรากฏชัดในฐานข้อมูลอาชญากรรม หรือการก่อการร้ายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“เบื้องต้นการดำเนินการนี้จะครอบคลุมผู้ป่วย บุคคลในครอบครัว และผู้ติดตามรวมไม่เกิน 3-5 คน เป็นแบบมีเงื่อนไขเฉพาะสำหรับการเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลเท่านั้น โดยมีเวลาพำนักในประเทศไทยได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และสามารถขยายระยะเวลาต่อเนื่องได้รวมแล้วไม่เกิน 1 ปี ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่าตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ป่วยและญาติสามารถขยายเวลาพำนักในไทยในกรณีรับการรักษาพยาบาลได้ตามความเหมาะสมอยู่แล้ว” อธิบดี สบส. กล่าว
นพ.สมชัย กล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่องการขยายเวลาพำนักในไทยรวม 90 วัน สำหรับกรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาล เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องบูรณาการในภาพรวมทั้งระบบ โดย สธ.จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขประกอบการพิจารณาแนวทางดังกล่าว ทั้งการจัดทำประกาศบัญชีประเภทของบริการรักษาพยาบาล การจัดทำหลักเกณฑ์ประเภทของผู้ป่วย บุคคลในครอบครัวและผู้ติดตาม การจัดทำประเภทของเอกสารทางการแพทย์เพื่อใช้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และการจัดทำประกาศรายชื่อสถานบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะเข้าร่วมดำเนินงาน เป็นต้น
สำหรับสถิติการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2554 พบว่า คนสัญชาติรัฐบาห์เรน เดินทางเข้าทั้งหมด 22,873 ราย รัฐคูเวต 59,557 ราย รัฐโอมาน 57,571 ราย รัฐกาตาร์ 20,280 ราย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ 109,362 ราย ส่วนจำนวนผู้ป่วยชาวตะวันออกกลางที่เข้ามารักษาพยาบาลในไทยเพิ่มขึ้นจาก 20,004 รายในปี 2545 เป็น 169,091 รายในปี 2550 นอกจากนี้ จากการประมาณการของกรมส่งเสริมการส่งออกและสบส.เกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยต่างชาติและประมาณการรายได้จากบริการรักษาพยาบาล พบว่า จำนวนผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 1,373,807 ราย ในปี2550 เป็น 2,240,000 รายในปี 2554 ประมาณการรายได้ปี 2550 จำนวน 41,000 ล้านบาท และปี 2554 จำนวน 97,874 ล้านบาท สำหรับในปี 2555 ประมาณการว่าจะมีผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในไทยราว 2,530,000 ราย ประมาณการรายได้ 121,658 ล้านบาท