สธ.ผุดไอเดีย “อโรคยศาล” ใน 5 รพ.นำร่อง เพื่อดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่ร่างกายพิการจากอุบัติเหตุและจากโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ทุ่มงบ 54 ล้านบาท คาดเริ่มบริการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 เป็นต้นไป
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนารูปแบบการดูผู้ที่มีความพิการจากเจ็บป่วย โดยเฉพาะจากอุบัติเหตุจราจร และจากโรคเรื้อรัง เช่นหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเกิดปัญหาตีบหรือแตก ทำให้เกิดความพิการ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งพิงผู้ดูแลตลอดวัน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 2 ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 1 ล้านราย และแนวโน้มจะมากขึ้นในอนาคตจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และประชาชนป่วยเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น และไม่สามารถทำได้ด้วยการทุ่มทรัพยากรเข้าไปในระบบเดิม จำเป็นต้องสังเคราะห์ระบบใหม่และพัฒนาทีมงานที่เอื้อต่อการดูแลโรคเรื้อรัง จากการวิเคราะห์ล่าสุดในปี 2553 จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั่วประเทศมี 1.7 ล้านกว่าราย ขณะที่ในปี 2551 มีผู้ป่วย 1.4 ล้านกว่าราย หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 19 คาดว่าในปี 2558 ค่ารักษาโรคเรื้อรังของประเทศไทยจะมีมูลค่าสูงถึงปีละ 52,000 ล้านบาท
นายวิทยากล่าวว่า ในการพัฒนารูปแบบดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ใช้ชื่อว่า อโรคยศาล ซึ่งนำร่อง 5 แห่งในประเทศ ภาคละ 1 แห่ง ได้แก่ 1. โรงพยาบาลขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ 2. โรงพยาบาลจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 3. โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 4. โรงพยาบาลห้วยยอด จังหวัดตรัง และที่สถาบันการแพทย์แผนไทย ยศเส กรุงเทพมหานคร ใช้งบลงทุน 54 ล้านบาท ได้ให้กรมสนับสนุนบริการ พัฒนาอาคารสถานที่ที่เหมาะสม เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น
ด้าน นายแพทย์อภิชัย มงคล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รูปแบบบริการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังของ อโรคยศาล จะอาศัยปัจจัยสำคัญ 2 ส่วน คือ การจัดระบบบริการสุขภาพของสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ ทั้งสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ ทีมสหวิชาชีพในการดูแลประมาณ 12 คนเป็นอย่างน้อย เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด เจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นักโภชนาการ ผู้ช่วยเหลือในการดูแลจากชุมชน โดยเชื่อมโยงกับชุมชน หมอพื้นบ้าน เพื่อการสนับสนุนทรัพยากรในชุมชนให้เอื้อต่อการดูแลผู้ป่วยพิการ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนตนเอง และความสามารถในการดูแลรักษาตนเองของผู้ป่วยและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน
“ลักษณะเฉพาะของอโรคยศาล เป็นอาคารชั้นเดียว ระบบระบายอากาศดี และแยกเป็นการเฉพาะออกจากหอผู้ป่วยทั่วไปเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยเรื้อรังจะมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย ภายในอาคารมีทั้งห้องผู้ป่วยรวมและห้องพิเศษ ห้องสันทนาการเพื่อทำกิจกรรม ห้องปฐมพยาบาล ห้องกายภาพบำบัด ห้องศาสนบำบัด คาดว่าจะเริ่มให้การดูแลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 เป็นต้นไป และจะประเมินผลในอีก 1 ปี เพื่อดำเนินการต่อในพื้นที่อื่น” รองปลัด ศธ.กล่าว