xs
xsm
sm
md
lg

สธ.-ศธ.เตรียมจัดรณรงค์ระดับชาติ “ปฐมบททางเพศศึกษา 1 โรงเรียน 1 โรงพยาบาล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาธารณสุข-ศึกษา จัดโครงการศึกษาสาธารณสุขร่วมใจ เทิดไท้องค์ราชัน “ลดโรค เพิ่มสุขวัยรุ่นไทย” ป้องกันและลดปัญหาในวัยรุ่น ทั้งตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เพสสัมพันธ์ สอนให้รู้เท่าทันภัยจากโซเซียลมีเดีย ขณะที่ รมว.สาธารณสุข เผยล่าสุดในปี 2554 พบวัยรุ่นหญิงอายุ 10-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยชั่วโมงละ 15 คน พร้อมตั้งเป้าภายในปี 59 ต้องมี 1 โรงพยาบาล 1 คลินิกวัยรุ่นกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ ด้าน ศึกษาเตรียมตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือนักเรียน 226 ศูนย์ทั่วประเทศ พร้อมจัดการรณรงค์ระดับชาติ “ปฐมบททางเพศศึกษา 1 โรงเรียน 1 โรงพยาบาล” ทั่วประเทศ
 

วันนี้ (17 ก.ค.) ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ศธ.และ สธ.ในการดำเนินงานลดโรค เพิ่มสุข วัยรุ่นไทย เพื่อสอนทักษะชีวิต สร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาอย่างเหมาะสม มีสุขอนามัยทางเพศที่ดี เข้าถึงบริการสุขภาพได้เมื่อเกิดปัญหา

นายวิทยา กล่าวว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นนโยบายสำคัญของนายกรัฐมนตรี และเป็นมิติใหม่ของ การระดมพลังทางสังคม เพื่อร่วมกันดูแลวัยรุ่นไทยในระบบการศึกษา ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าวัยรุ่นมีความเสี่ยงเผชิญปัญหามากขึ้น ทั้งเรื่องเพศสัมพันธ์ ยาเสพติด เนื่องจากวัยรุ่นอยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ โดยวัยรุ่นเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุน้อยลง เฉลี่ยอายุเพียง 15 ปี แต่ใช้ถุงยางอนามัยน้อยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 50 ในขณะที่ 1 ใน 3 ไม่ได้ป้องกันด้วยวิธีใดเลย 1 ใน 3 ถูกล่อลวงหรือถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ และ 1 ใน 3 ใช้วิธีการคุมกำเนิดไม่ถูกต้อง จึงเป็นสาเหตุของการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นหญิง นอกจากนี้ ในปี 2554 พบวัยรุ่นหญิงอายุ 10-19 ปี คลอดบุตรมากถึง 131,400 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 15 คน คิดเป็น ร้อยละ 17 ของจำนวนหญิงที่คลอดบุตรทั้งหมดในประเทศไทย สูงกว่าค่าเฉลี่ยการคลอดบุตรในวัยรุ่นระดับโลกที่มีร้อยละ 11 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในทวีปเอเชียที่พบเฉลี่ยร้อยละ 14 นำไปสู่ปัญหาความไม่พร้อมในการเลี้ยงดูลูก ปัญหาทางเศรษฐกิจ ฯลฯ และยังพบวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวี เพิ่มขึ้นรวมทั้งเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากที่สุด ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด ปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึงการขาดการตระหนัก ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาและวิธีการป้องกันที่ถูกต้อง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า สำหรับ “โครงการศึกษาสาธารณสุขร่วมใจเทิดไท้องค์ราชัน ลดโรค เพิ่มสุขวัยรุ่นไทย” นั้น จะดูแลวัยรุ่นครอบคลุมทั้งมิติทางกาย จิต สังคม และปัญญา โดยใช้กลยุทธ์ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันปัญหา จัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน สอนทักษะชีวิตและเพศศึกษาแก่วัยรุ่น ให้สามารถประเมินความเสี่ยง สามารถสื่อสารและเจรจาต่อรองกับคู่ได้ รวมทั้งสอนให้รู้เท่าทันภัยสื่อสังคมหรือโซเซียลมีเดีย(social media) ที่กำลังแพร่กระจายรวดเร็วผ่านทางมือถือ อินเทอร์เน็ตต่างๆ และหากมีปัญหาเกิดขึ้น โดยจะดำเนินการคลินิกสำหรับวัยรุ่นโดยเฉพาะ บริการอย่างเป็นมิตร ทั้งให้คำปรึกษาวัยรุ่นโดยตรงในทุกเรื่อง โดยมีเป้าหมายในปี 2559 ครอบคลุม รพช. 1,000 แห่ง หรือ “1 โรงพยาบาล 1 คลินิกวัยรุ่น (Teen Center)” ซึ่งจะทำให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการ และจะลดการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร หรือลดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธุ์ในวัยรุ่นได้ พร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

การขับเคลื่อนโครงการศึกษาสาธารณสุขร่วมใจเทิดไท้องค์ราชัน ลดโรค เพิ่มสุข วัยรุ่นไทย ปี 2555 จะจัดการรณรงค์ระดับชาติ “ปฐมบททางเพศศึกษา 1 โรงเรียน 1โรงพยาบาล” เป็นการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา รวมทั้งการจัดนิทรรศการ ในโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ โดยความร่วมมือวิทยากรจากโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอของกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2555 สำหรับกรุงเทพฯ มีการรณรงค์ในโรงเรียนมัธยมศึกษา และ อาชีวศึกษาเขตพื้นที่กรุงเทพฯ 12 แห่ง ภายใต้ชื่อ “วัยรุ่นฉลาดรัก รู้จักป้องกัน” (SMART TEEN: love say + play )”รมว.สาธารณสุข กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า ในส่วนของ ศธ.จะมีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือนักเรียน 226 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเด็กนักเรียน ดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเข้มแข็งในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการเชื่อมเครือข่ายทั้งในและนอกสถานศึกษา นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนากิจกรรมเพื่อนที่ปรึกษา (youth counselor) ให้เพื่อนนักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว สามารถให้คำปรึกษา ช่วยเหลือเพื่อนนักเรียนที่ประสบปัญหาเบื้องต้นได้ โดยได้มีการทดลองการจัดให้มีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน นำร่อง 24 แห่งใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา, ร้อยเอ็ด, สระแก้ว, นครศรีธรรมราช, สมุทรปราการ และ กทม.สามารถตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต และให้การดูแลบำบัดรักษา เบื้องต้นภายในโรงเรียนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น