xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.ตั้งเป้าสร้างเถ้าแก่น้อยเพิ่มอีกเท่าใน 3 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดินหน้ากองทุนตั้งตัวได้ ตั้งเป้าสร้างเถ้าแก่น้อยเพิ่มอีกเท่าตัวใน 3 ปีข้างหน้า

วันนี้ (11 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.45 น.ที่โรงแรมเอเชีย ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับ นายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และรศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.) ประชุมชี้แจงนโยบายและแนวทางการบริหารและการดำเนินงาน กองทุนตั้งตัวได้ ร่วมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดย ศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า กองทุนตั้งตัวได้ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่มุ่งหวังและส่งเสริมให้ผู้กำลังศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรีในสถาบันอุดมศึกษาได้มีโอกาสสร้างธุรกิจใหม่เป็นของตัวเองและเป็นเถ้าแก่น้อยด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างบริษัท ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการไว้ 5,000 ล้านบาท

รัฐบาลก็ไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จกับการสร้างธุรกิจ แต่หากมีเด็กรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งสามารถเป็นเถ้าแก่น้อยได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วโดยมีกองทุนตั้งตัวได้ เป็นส่วนในการสนับสนุน ซึ่งเรื่องนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญมากและเป็นประธานคณะกรรมการกำกับนโยบายด้วยตนเอง ต่อจากนี้ก็จะมีการแปรญัตติให้กองทุนมีกฎหมายเป็นของตัวเอง โดยจะมี สกอ.มีสถาบันอาชีวศึกษามาเป็นกรรมการดูแลกองทุนนี้ด้วย” ศ.ดร.สุชาติ กล่าว
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ด้านนายโอฬาร กล่าวว่า ที่ผ่านมา 50 ปีเราผลิตบัณฑิตเพื่อออกไปรับราชการ หรือเป็นพนักงานในบริษัทขนาดใหญ่ แต่แนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะเป็นธุรกิจการค้าของผู้ประกอบการรายย่อยที่มีพนักงาน 5-10 คน มีคนหันมาทำธุรกิจของตัวเองเป็นเถ้าแก่น้อย จะต้องช่วยกันทำงาน และต่อไปพนักงานในบริษัทจะต้องมีความเป็นเจ้าของบริษัทร่วมกันดังนั้นต่อไป สินค้าที่จะผลิตจึงต้องแตกต่างจากสินค้าที่บริษัทขนาดใหญ่ผลิตอยู่ และต้องมีคุณภาพมากกว่า เช่น การต่อยอดภูมิปัญญาไทย เป็นต้น

“โดยกองทุนดังกล่าวจะให้การสนับสนุนแต่ละโครงการไม่เกินร้อยละ 20 ที่นักศึกษานำเสนอโครงการมา ซึ่งจากการสำรวจ พบว่า โครงการต่างๆ มีมูลค่าสูงสุด 5 ล้าน ดังนั้น กองทุนจะสนับสนุนโครงการละ 1 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษาจะช่วยกันสร้างเถ้าแก่น้อย จากที่มีอยู่ขณะนี้ 1.5 ล้านคน ให้ได้ 3 ล้านคน หรือ สร้างเพิ่มอีก 1.5 ล้านคน และจะเร่งผลักดันโครงการนี้ให้เป็นรูปธรรมภายในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 1 ปี ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลมุ่งหวังว่าอนาคตประเทศไทยจะต้องมีนักธรกิจรายย่อยที่แข็งแกร่ง เพื่อพัฒนาฐานเศรษฐกิจของประเทศ” นายโอฬาร กล่าว

รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า ลักษณะการบริหารจัดการกองทุนนี้จะมีความคล้ายคลึงกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยมีรูปแบบการกู้ยืมรายบุคคล ซึ่งนักศึกษาที่เป็นเจ้าของนวัตกรรมสามารถสร้างคุณค่าทางภูมิปัญหาของไทยได้ และสามารถสร้างโอกาสในการทำงาน สร้างรายได้ก็สามารถยื่นโครงการเข้ามากู้โดยตรง และแบ่งเป็นรูปแบบของระบบมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหน่วยบ่มเบาะธุรกิจที่ได้รับอนุญาต หรือ Authorized Business Incubator หรือ ABI ก็จะมีบทบาทเป็นหลักประกันให้กับผู้ทำธุรกิจ โดย ABI จะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์โครงการ พิจารณาการให้กู้ยืน ฝึกอบรมกระบวนการ การจับคู่ธุรกิจ รวมถึงการประกาศหาผู้ร่วมทุน และติดตามการบริหารและจัดการความเสี่ยงของกองทุน และดูความก้าวหน้าตามรายโครงการ ซึ่ง ABI ก็จะเป็นหลักประกันว่าผู้สร้างธุรกิจสามารถดำเนินโครงการได้ โดย ABI จะต้องเป็นผู้ประสานงานกันกับสำนักงานบริหารกองทุนตั้งตัว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดทุนและการลงทุนกลายเป็นหนี้สูญในอนาคตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น