xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ปลื้ม! ไทยเป็นหัวหอกจับมือภาคธุรกิจเอเชียแปซิฟิก ลดเอดส์-วัณโรค-มาลาเรีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัด สธ.เผย กองทุนโลกเลือกไทย เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ระดมมือภาคธุรกิจ เอกชน ร่วมแก้ไขปัญหาเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย เหตุเลือกไทยเพราะผลงานลดเอดส์เจ๋ง

วันนี้ (11 ก.ค.) ที่โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์ ถนนรางน้ำ กรุงเทพฯ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดการประชุมการลงทุนด้านสุขภาพในเอเชียแปซิฟิก กับความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในด้านสุขภาพ จัดโดยกองทุนโลกเพื่อการต่อสู้กับโรคเอดส์ วัณโรค และ มาลาเรีย (The Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria) ร่วมกับสมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจโลกด้านสุขภาพ กลุ่มเพื่อนญี่ปุ่น และกลุ่มเพื่อนแปซิฟิกของกองทุนโลกฯ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย บริษัทจากออสเตรเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย และประเทศอื่น ที่ดำเนินกิจการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประมาณ 150 คน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 เพื่อกระตุ้นและระดมความร่วมมือจากภาคเอกชน ในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ในระดับนานาชาติ นำไปสู่การจัดตั้งเครือข่ายการทำงานด้านสุขภาพร่วมกับภาคเอกชน
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายแพทย์ ไพจิตร์ กล่าวว่า กองทุนโลกเพื่อการต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรค และ มาลาเรีย เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลกับภาคเอกชนที่จัดตั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา กองทุนดังกล่าวได้รับเงินบริจาคจากรัฐบาลต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานการกุศลและบริษัทเอกชนรายใหญ่ทั่วโลก เพื่อมอบเป็นทุนสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ที่เสนอขอกองทุนกว่า 1,000 โครงการ ใน 150 ประเทศ วงเงินปีละกว่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 700,000 ล้านบาท

นายแพทย์ ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยอยู่ในฐานะทั้งผู้ให้ และผู้รับเงินจากกองทุนโลกฯ เพื่อป้องกัน ควบคุมและรักษาโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ในแต่ละปีประเทศไทยได้บริจาคงบประมาณเพื่อสนับสนุนการทำงานของกองทุนโลกฯ ให้มีความคล่องตัวและต่อเนื่อง และยังเป็นการยืนยันว่า ไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานร่วมกับภาคีสมาชิกประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาการระบาดโรคดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในปีนี้ กองทุนโลก ได้เลือกประเทศไทย เป็นประเทศแรกในภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก ให้ดำเนินการระดมความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเอดส์ มาลาเรียและวัณโรคในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 21 ประเทศ เพื่อให้การแก้ปัญหาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แม้ว่าปัจจุบันจะมีภาคธุรกิจจำนวนมาก ให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ แต่ยังต้องการขยายความร่วมมือให้เพิ่มมากขึ้น เป็นเครือข่ายร่วมมือที่เข้มแข็ง ในการพัฒนาคุณภาพประชากร ซึ่งมีประมาณ 2,500 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก ซึ่งถือว่าเป็นกลไกหลักสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ ไม่ให้ถูกคุกคามจากโรคเอดส์ วัณโรค และ มาลาเรีย

ทั้งนี้ สาเหตุที่กองทุนโลกฯเลือกประเทศไทย ระดมความร่วมมือจากภาคเอกชน เนื่องจากไทยมีผลงานโดดเด่นในการแก้ไขปัญหา เป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างรวดเร็ว โดยลดลงกว่าร้อยละ 90 ผู้ติดเชื้อเอชไอวีถึงร้อยละ 65 สามารถเข้าถึงยาต้านไวรัส และกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันภาคธุรกิจในประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาโรคเอดส์และวัณโรคอย่างแข็งขัน โดยมีบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนกว่า 5,000 แห่ง ได้กำหนดนโยบายไม่เลือกปฏิบัติและให้ความช่วยเหลือพนักงานที่ติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค รวมถึงจัดอบรมความรู้เรื่องโรคเอดส์ และวัณโรคแก่พนักงาน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลกฯ มาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผลงานของกองทุนโลกฯ ที่ผ่านมา ได้ให้ความช่วยเหลือในการจัดหายาต้านไวรัส ให้ผู้ป่วยเอดส์ทั่วโลกกว่า 3.3 ล้านคน ป้องกันและรักษาผู้ป่วยวัณโรคอีกกว่า 8.2 ล้านคน และมอบเงินกว่า 230 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการจัดหาเวชภัณฑ์รักษาไข้มาลาเรีย ตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปี สามารถป้องกันสตรีที่กำลังตั้งครรภ์กว่า 1.3 ล้านคน ไม่ให้ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ไปสู่ทารกในครรภ์ และดูแลเด็กกำพร้ากว่า 5.6 ล้านคน
กำลังโหลดความคิดเห็น