องค์กรโรลแบ็กมาลาเรีย จี้ รัฐบาลในภูมิภาคอาเซียน เร่งปราบยาอาร์ติมิซินินด้อยคุณภาพ ชี้ ทำให้เชื้อมาลาเรียดื้อยา ห่วงกระจายไปทั่วโลก แนะสร้างมาตรการป้องกัน การรักษา และการเข้าถึงยา เชื่อกำจัดโรคมาลาเรียได้
ดร.โทมัส ทอยเชอร์ ผู้อำนวยการบริหารองค์กรโรลแบ็กมาลาเรีย (RBM) กล่าวภายหลังการประชุมคู่ขนานของผู้บริหารระดับสูง ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุข จากประเทศอาเซียน 10 ประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการสนับสนุนจากภาคการเมือง ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียในภูมิภาค ว่า โรคมาลาเรียไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพคนในอาเซียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบถึงด้านเศรษฐกิจด้วย โดยในภูมิภาคเอเชียมีอัตราผู้ป่วย 16% ของจำนวนผู้ป่วยประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลก และในจำนวนนี้ 1-2% เกิดอาการเชื้อดื้อยา ส่วนในภูมิภาคอาเซียนมีผู้ป่วยประมาณ 6-7 แสนคน พบผู้ป่วยมากบริเวณเขตชายแดนไทย-กัมพูชา โดยประเทศที่พบอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด คือ ประเทศพม่า ซึ่งปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยาไม่ได้เป็นปัญหาในระดับภูมิภาค แต่ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดโอกาสแพร่ระบาดไปสู่ส่วนต่างๆ ทั่วโลกได้ด้วย
ดร.โทมัส กล่าวอีกว่า สาเหตุที่เชื้อดื้อยา เป็นเพราะคนไข้ไม่กินยาตามขนาด และครบตามวันที่กำหนด รวมถึงมียาด้อยคุณภาพแพร่กระจายในตลาดยา ซึ่ง RBM อยากให้รัฐบาลของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน มีนโยบายกำจัดยาด้อยคุณภาพอย่างจริงจัง นอกจากนี้ อยากให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้ทุกคนที่อยู่ในประชาคมอาเซียนได้เข้าถึงการป้องกันการวินิจฉัย การรักษาโรค หากทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ป้ญหาของโรคมาลาเรียก็จะหมดไป
“ปัจจุบันยาที่ใช้รักษา คือ ยากลุ่มอาร์ติมิซินิน ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาเพียงขนานเดียว หากปล่อยให้มีการดื้อยาก็จะทำให้ไม่มียาที่ใช่้ในการรักษา และเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อดื้อยาแพร่กระจายไปทั่ว โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา RBM ใช้งบประมาณเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาไป 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ สามารถช่วยชีวิตคนได้ 1.4 ล้านคน โดยแผนในระยะต่อไป จะทุ่มงบประมาณอีกปีละ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐในการช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว หากประเทศต่างๆ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เชื่อว่า ภายใน 10-20 ปีจะสามารถกำจัดเชื้อมาลาเรียให้หมดไปได้” ดร.โทมัส กล่าว