“ศิริราช” เจ๋ง ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมด้วยหุ่นยนต์ สำเร็จครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์ แพทย์ชี้ได้ผลดีกว่า 80%
วันนี้ (6 ก.ค.) ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวแถลงข่าว “ความสำเร็จเป็นครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์ ศิริราชล้ำหน้าใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่า ว่า จากที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด ได้นำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด มาใช้กับผู้ป่วยเป็นเครื่องแรกของไทย และครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ นั่นคือ “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน” ถือเป็นความก้าวหน้าในการรักษาผู้ป่วยของภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ฯ พร้อมๆ กับการก้าวไปของภาควิชาในปีนี้ที่ครบรอบปีที่ 48”
ด้าน ศ.นพ.ภานุพันธ์ ทรงเจริญ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด กล่าวว่า โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในช่วงวัยกลางคน และจะพบเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นๆ นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีความสำคัญมากขึ้นไม่แพ้โรคเรื้อรังอื่นๆ ยิ่งในอนาคตประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ จำนวนของผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อมก็จะมีมากขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันเรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาออร์โธปิดิกส์บูรณสภาพดูแลผู้ป่วยทางด้านนี้โดยเฉพาะถึง 12 คน นักกายภาพบำบัด 7 คน และยังผลิตแพทย์เฟลโลว์เฉพาะทางสาขาออร์โธปิดิกส์บูรณสภาพ และสาขาเวชศาสตร์การกีฬาเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคข้อเข่า 29 คน โดยให้บริการรักษาผู้ป่วยด้านนี้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อที่หุ้มอยู่รอบส่วนปลายของกระดูก ซึ่งทำหน้าที่กระจายน้ำหนัก รองรับแรงกระแทกที่กดลงมา ถูกทำลาย เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของข้อ ได้แก่ ข้อโก่งงอผิดรูป มีน้ำสะสมในข้อเพิ่มขึ้น กระดูกงอกผิดปกติ กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อหย่อนยาน การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้จะทำให้การเคลื่อนไหวข้อได้จำกัด รวมทั้งทำให้เกิดอาการปวดและบวมที่ข้อ ซึ่งข้อที่เสื่อมมักเป็นข้อที่ต้องรับน้ำหนักของร่างกายโดยตรง เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ยิ่งน้ำหนักตัวมากเท่าใด ข้อต้องรับน้ำหนักมากเท่านั้น ทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมานในการใช้ชีวิตประจำวัน และทำให้โรคอื่นๆ กำเริบขึ้นได้ เนื่องจากขาดการออกกำลังกาย เช่น ความดันโลหิต เบาหวาน เป็นต้น
รศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช แพทย์ผู้รักษาประจำสาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ กล่าวว่า การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น เป้าหมายอยู่ที่ ลดอาการปวดและรักษาการทำงานของข้อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ การรักษาประกอบด้วย การทำกายภาพบำบัด โดยการบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อ การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง และการใช้ความร้อนประคบบริเวณที่ปวดบวม ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นอาจใช้ยาร่วมรักษาซึ่งมีทั้งยากิน เพื่อลดปวดและลดการอักเสบ แต่นั่นเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ซ้ำยังมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาต่อไตต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ อาจทำให้กระเพาะอาหารมีแผล หรือทะลุจนมีเลือดออก นอกจากยากินแล้วยังมียาฉีดจำพวกสเตียรอยด์ มีผลให้เกิดการตกตะกอนในข้อ ทำให้ข้อเสื่อมเร็ว ยาฉีดน้ำเลี้ยงข้อเทียม จะทำให้ผิวข้อลื่นมากขึ้น และสุดท้ายคือ การผ่าตัด ด้วยการส่องกล้องหรือเปิดข้อเข่า เพื่อกวาดล้างสิ่งแปลกปลอมในข้อออก ตัดกระดูกและจัดกระดูกที่โก่งงอให้ตรง และเปลี่ยนข้อเทียมทั้งข้อหรือบางส่วน
รศ.นพ.กีรติ กล่าวว่า การประเมินประสิทธิภาพหลังผ่าตัดด้วยกล้องนั้น พบว่า ภายใน 20 ปีแรก พบ 2 ใน10 เข้ามาเปลี่ยนกระดูกข้อเข่าเทียมใหม่ ขณะที่การประเมินต่อไปอีก 20 ปี พบว่า 80% มีการใช้งานได้ดี ทั้งนี้ สำหรับข้อแนะนำของผู้ป่วย คือ ต้องมาพบแพทย์ปีละ 1 ครั้ง เพื่อพิจารณาอาการเป็นครั้งคราว