xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อข้อเข่าต้องการ “น้ำเลี้ยง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุณมนตรี หรือ พี่ติ๊ก ของน้องๆ ต้องใช้รถกอล์ฟในการออกรอบตลอด เพราะเข่าขวาของพี่เค้าไม่ค่อยดี เนื่องจากต้องแบกรับน้ำหนักตัวถึง 105 กิโลกรัมไว้ จนขาเริ่มโก่งแล้ว “หมอนัดฉีดน้ำเลี้ยงข้อให้พี่อาทิตย์หน้า เจ็บมากไหม? หมอ”

“เจ็บนิดเดียวครับ ไม่ต้องกลัว…ว่าแต่ อย่างพี่! ยังต้องอาศัยน้ำเลี้ยงด้วยเหรอครับ?” ผมหยอกแกกลับ วันนั้นเลยคุยกันว่าด้วยเรื่องข้อเข่าเสื่อมให้พี่เค้าฟังจนเข้าอกเข้าใจกันดี

ข้อเข่า เป็นข้อที่พบการเสื่อมได้มากกว่าข้ออื่นๆ โดยพบถึง 34.5% ในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยพบการเสื่อมสภาพที่ผิวกระดูกอ่อน มีอาการปวดบริเวณข้อเข่าด้านในเวลาเดิน หรือปวดมากขึ้นเมื่อใช้งานหนัก เช่น นั่งยองๆ คุกเข่า หรือเดินขึ้นลงบันได อาจมีอาการข้อบวมแดง มีเสียงดังเวลาขยับลุกนั่ง มีความลำบากในการเคลื่อนไหวของข้อ อาจจะเห็นข้อโก่งงอ ข้อติด ข้อยึด หรือข้อฝืด

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดข้อเข่าเสื่อม คือ อายุที่มากขึ้น (50-70ปี) ความอ้วน การได้รับบาดเจ็บของข้อ และพฤติกรรมการใช้ข้อบางอย่าง เช่น การนั่งยองๆ นั่งพับเพียบ และนั่งคุกเข่า

การรักษา เราวางแผนการรักษาโดยขึ้นกับอาการ และความรุนแรงของโรค แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ
1.การรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา
การให้ความรู้ ความเข้าใจ โรคข้อเข่าเสื่อมที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
ลดความอ้วน
การออกกำลังกายที่เหมาะสม และบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ การนั่งยองๆ และการนั่งคุกเข่า
การใช้อุปกรณ์ช่วยต่างๆ เช่น ไม้เท้า เครื่องพยุงเข่า (knee support) เป็นต้น
2.การรักษาโดยการใช้ยา
ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และยาแก้ปวด
ยาลดการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อ ช่วยในการปรับสมดุลข้อให้ดีขึ้น ได้แก่ ไดอะเซอรีน
ยาที่มีคุณสมบัติช่วยซ่อมแซมองค์ประกอบของข้อ ได้แก่ กลูโคซามีน, คอนโดรอิติน และยาฉีดน้ำเลี้ยงข้อเทียม (สารไฮยาลูโรเนต) ซึ่งใช้ทดแทนน้ำเลี้ยงข้อที่เสียคุณสมบัติในการช่วยหล่อลื่นไป ทำให้การทำงานของข้อดีขึ้น
3.การรักษาโดยการผ่าตัด
การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง
การผ่าตัดเพื่อแก้ความโก่งงอของข้อเข่า
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จะทำในระยะที่ข้อเสื่อมมาก หรือเกิดภาวะข้อผิดรูปมาก

ในข้อปกติ ระหว่างกระดูกผิวข้อจะมีน้ำไขข้อที่มีความหนืดแทรกอยู่ ทำหน้าที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงข้อ ช่วยในการหล่อลื่นและกันแรงกระแทก น้ำในข้อมีสารไฮยาลูโรเนตเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมจะมีปริมาณความเข้มข้นและน้ำหนักโมเลกุลของสารไฮยาลูโรเนตน้อยกว่าปกติ ทำให้คุณสมบัติดังกล่าวข้างต้นเสียไป

การฉีดยาเข้าข้อ ยาที่ฉีด ได้แก่ สารไฮยาลูโรเนต ที่เรียกว่า น้ำเลี้ยงข้อเทียม มีประโยชน์ช่วยในการหล่อลื่น ทำให้ข้อขยับเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ช่วยลดการปวด มีฤทธิ์ลดการอักเสบ และปรับเปลี่ยนการทำงานของเซลล์ภายในข้อให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผลลดการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อ และชะลอความเสื่อมของข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมระยะแรกๆ

แพทย์จะทำการฉีดยาเข้าข้อที่มีอาการสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3-5 สัปดาห์ “ฉีดยาครบ 5 เข็มแล้ว นานเท่าไรถึงต้องกลับมาฉีดอีกครับ?” พี่ติ๊กถามเป็นคำถามสุดท้าย “ฉีดครบแล้วจะหายปวดไป 6 เดือน - 1 ปี ครับ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ถ้าหากมีอาการปวดอีก พี่ก็รวบรวมปัจจัยกลับมาฉีดซ้ำได้ครับพี่”
กำลังโหลดความคิดเห็น