xs
xsm
sm
md
lg

ใส่ใจสุขภาพ : 6 ท่าบริหารกาย ยามปวดหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังเป็นส่วนสำคัญของร่างกายที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวส่วนบน กระดูกสันหลังประกอบไปด้วยกระดูก 24 ชิ้น แต่ที่เป็นส่วนสำคัญของอาการปวดหลังที่พบบ่อยคือ กระดูกสันหลังส่วนล่าง 5 ชิ้น ซึ่งต่อกับกระดูกกระเบนเหน็บ กระดูกสันหลังส่วนล่างนี้เชื่อมกันด้วยข้อต่อ และมีช่องระหว่างข้อให้ปลายประสาทผ่านออกมาเลี้ยงกล้ามเนื้อของเรา

อาการปวดหลังอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1. อาการปวดแบบเฉียบพลัน ซึ่งเป็นมาภายในไม่กี่วัน ถึง 1-2 สัปดาห์ โดยมากมักจะเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ

2. อาการปวดเรื้อรัง ซึ่งมักเป็นนานกว่า 3 เดือน และมีสาเหตุมากมาย

สาเหตุของอาการปวดหลังที่พบบ่อย

1. อิริยาบถหรือท่าทางที่ไม่ถูกต้องหรือหลังเคล็ด เป็นภาวะที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้บ่อย เช่น นั่งทำงานในท่าก้มหลังเป็นเวลานาน การก้มตัวยกของหนัก หลังถูกกระแทก เป็นต้น

2. ภาวะเสื่อมของกระดูกสันหลัง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ กระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลังมีการเสื่อม ทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง ในบางรายอาจมีกระดูกงอกไปกดปลายประสาททำให้เกิดอาการชาหรืออ่อนแรงของขาได้

3. หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน มักเกิดอาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน เกิดจากการที่ยกของหนักหรือล้มก้นกระแทกพื้น เกิดแรงดันทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังไปกดเส้นประสาทที่ออกมาจากไขสันหลัง เกิดอาการปวดร้าวไปด้านหลังของขา ร่วมกับอาการชา และอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา ภาวะนี้จำเป็นต้องการการผ่าตัด แก้ไข

4. ภาวะเครียด อาจส่งผลให้มีการเกร็งของกล้ามเนื้อหลังตลอดเวลา ทำให้ปวดหลังได้

5. กระดูกสันหลังอักเสบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบของกระดูกสันหลัง พบได้บ่อยในเพศชายวัยกลางคน มีอาการปวดหลังเรื้อรัง อาจมีข้ออักเสบอื่นๆ ร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการหลังแข็ง ถ้าได้รับการวินิจฉัยไม่ถูกต้อง กระดูกสันหลังอาจยึดติดกันไปหมด ก่อให้เกิดความพิการตามมาได้

6. สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ โรคของอวัยวะบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการปวดร้าวมาบริเวณหลังได้ ได้แก่ โรคไต โรคเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก หรือโรคที่เกี่ยวกับต่อมลูกหมาก หรือการกระจายของมะเร็งมาที่บริเวณกระดูกสันหลัง เป็นต้น การบริหารกล้ามเนื้อหลังเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง เพราะจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่ง ของกล้ามเนื้อหลัง และลดการเกร็งของกล้ามเนื้อหลัง

(ข้อมูลจากสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย)

ท่าฝึกบริหารกล้ามเนื้อ ในคนที่มีอาการปวดหลัง

1. ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อท้อง

ท่าเตรียม : นอนหงาย ชันเข่าทั้งสองข้าง ฝ่าเท้าติดดิน แขนทั้งสองข้างวางข้างลำตัว
ปฏิบัติ : กดหลังส่วนล่างลงให้ติดกับพื้น สลับยกสะโพกขึ้นเกร็ง ค้างไว้ 10-30 วินาที

2. ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อสะโพก ก้น และหลังส่วนล่าง

ท่าเตรียม : นอนหงาย ชันเข่าทั้งสองข้าง ฝ่าเท้าติดพื้น แขนทั้งสองข้างวางข้างลำตัว
ปฏิบัติ : ยกเข่าทั้งสองข้างขึ้น ใช้มือทั้งสองข้างดึงเข่าเข้ามาชิดหน้าอก ค้างไว้ 10-30 วินาที แล้ววางขาทั้งสองข้างลง

3. ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อหลัง หน้าท้อง และขา

ท่าเตรียม : คุกเข่า ให้เข่าและข้อมือรับน้ำหนัก
ปฏิบัติ : คางชิดลำตัว โค้งหลังขึ้น ค่อยๆนั่งลงบนส้นเท้า กดไหล่ลงไปหาพื้น ค้างไว้ 10-30 นาที

4. ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อท้อง
ท่าเตรียม : คุกเข่า ให้เข่าและข้อมือรับน้ำหนัก ศีรษะขนานกับพื้น
ปฏิบัติ : โค้งหลังขึ้น สลับแอ่นหลังลง แขนทั้งสองข้างตั้งตรง ปฏิบัติ 10-12 ครั้ง

5. ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง

ท่าเตรียม : นอนหงาย ชันเข่าประสานมือที่หน้าอก ฝ่าเท่าทั้งสองข้างติดพื้น
ปฏิบัติ : หลังส่วนล่างและส่วนกลางติดพื้น ยกศีรษะและไหล่ขึ้นจากพื้น และเกร็งค้างไว้ แล้วค่อยๆลดลง ปฏิบัติ 10-12 ครั้ง

6. ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพกและกล้ามเนื้อก้น และยืดเหยียดกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อขา

ท่าเตรียม : นอนคว่ำ คางวางบนมือทั้งสองข้าง
ปฏิบัติ : ยกขาข้างหนึ่งขึ้นช้าๆ ขาไม่งอ สะโพกติดพื้น ยกขึ้นลงช้าๆ 10-12 ครั้ง แล้วสลับข้าง

(จากเอกสาร”ท่าฝึกบริหารกล้ามเนื้อในคนที่มีอาการปวดหลัง”
กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 126 พฤษภาคม 2554 โดย กองบรรณาธิการ)





กำลังโหลดความคิดเห็น