xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีซพบสารปนเปื้อนนิคมฯบางปู จี้นิคมอุตสาหกรรมต้องรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรีนพีซตรวจพบโลหะหนักอันตรายระเหยก่อมะเร็งปนเปื้อนในพื้นที่ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ชี้นิคมอุตสาหกรรมบางปูต้องรับผิดชอบ  
นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แถลงข่าว ในหัวข้อ “ขบวนการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม “ ปัญหา และ ทางออก โดยระบุว่า กรีนพีซฯ ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างกากอุตสาหกรรมใน 3 จุด คือ 1. บริเวณลำรางน้ำสาธารณะหน้าบริษัทรับกำจัดกากอุตสาหกรรม บริษัท เวสต์ รีโคเวอรี่ เมเนจเม้นท์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมบางปู 2. จากรถขนสารเคมีที่ถูกตำรวจสภ. บางปู และ 3.บริเวณบ่อกุ้งร้างหลังสภ.บางปู ใกล้ชายฝั่งอ่าวไทย

ทั้งนี้ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างสารเคมีและน้ำเสียอุตสาหกรรมพบโลหะหนักบางชนิดในตัวอย่างน้ำ เช่น นิกเกิลและเหล็ก และพบสารอินทรีย์ระเหยง่าย ไดคลอโรมีเทน เบนซีน ทราน1-2 ไดคลอโรเอทิลลีน ไดคลอโรมีเทน เอทิลเบนซีน สไตลีน เตตระคลอโรเอทธิลีน โทลูอีน ไตรคลอโรเอทิลลีน และไซลีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและทำลายระบบประสาท ทำลายอวัยวะตับ และ ไต และมีการสะสมของโลหะหนักในตะกอนดินในปริมาณสูง เช่น นิกเกิล สังกะสี เหล็กและโครเมียม ซึ่งแสดงถึงการปนเปื้อนสะสมเป็นระยะเวลานาน

นายพลาย กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าการลักลอบทิ้งสารเคมีและน้ำเสียที่เกิดขึ้นมีการดำเนินการเป็นขบวนการเป็นอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมที่ยังหาตัวอาชญากรมารับผิดไม่ได้ แม้ว่าประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับในการจัดการของเสียจากอุตสาหกรรม แต่ในความเป็นจริงมีช่องโหว่อีกมากในระบบที่ขาดการติดตามตรวจสอบว่าบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตกำจัดของเสีย มีการกำจัดของเสียที่ถูกต้องตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้หรือไม่ เพราะบางกรณีบริษัทผู้รับบำบัดกลับนำของเสียดังกล่าวไปทิ้งโดยที่ไม่มีการบำบัดใดเพื่อการประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งธุรกิจผิดกฎหมายดังกล่าวสามารถสร้างกำไรมหาศาล แต่สิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ ผืนดิน ที่เป็นสมบัติสาธารณะของทุกคนกลับถูกสังเวยไปกับการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบนี้

“ดังนั้น กรีนพีซเรียกร้องให้นิคมอุตสาหกรรมบางปูเข้ามารับผิดชอบในเรื่องนี้เพื่อยุติขบวนการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมดังกล่าว เพราะมีหลักฐานชัดเจนแล้วว่าของเสียเหล่านั้นเป็นสารเคมีที่มีพิษซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน นอกจากนี้ในส่วนของรัฐบาลไม่ควรมีการใช้ประเด็นนี้เป็นข้ออ้างในการเปิดใช้โรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งนอกจากเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตแล้ว การปล่อยน้ำจืดปริมาณมหาศาลลงสู่อ่าวไทยจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศทางทะเลด้วย”

ทั้งนี้ กรีนพีซ ขอเสนอแนวทางนโยบายต่อภาครัฐในการแก้ไขปัญหา 6 ข้อ คือ 1.เร่งผลักดัน พ.ร.บ. มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม และร่างอนุบัญญัติว่าด้วยภาษีการปล่อยกากของเสีย ที่จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้เกิดการลดมลพิษ และกองทุนสนับสนุนด้านเทคโนโลยีที่สะอาด ลดของเสียอันตราย สนับสนุนด้านการกำจัดและบำบัด รวมทุนการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน 2. นำระบบติดตามข้อมูลการขนส่งของเสียอันตรายมาใช้อย่างเคร่งครัดและบังคับใช้ให้ครอบคลุมทุกโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยต้องมีการสุ่มตรวจการขนย้ายกากอุตสาหกรรมตั้งแต่แหล่งกำเนิด การขนส่ง และปลายทางกำจัดหรือบำบัดกากอุตสาหกรรม 3. ตรวจสอบโรงงานรับกำจัดและบำบัดกากอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด ให้มีการปฏิบัติตามกฏหมายและการกำจัดหรือบำบัดอย่างถูกวิธี 4.เร่งจัดทำระบบและเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตราย ให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย 5. สนับสนุนและผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด ลดและมุ่งสู่ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายตั้งแต่ต้นทาง 6. เพิ่มบทลงโทษกับผู้กระทำผิด ทั้งทางแพ่งและอาญาแก่ผู้ที่กระทำผิดกฏหมาย ทั้งนี้กรีนพีซจะส่งรายงานดังกล่าวให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ผลรายงานสามารถดาวน์โหลด ได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/Illegal-Waste-Dumping/

นายธีรพล ชุนเจริญ นายกเทศมนตรีตำบลบางปู จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นนานมาหลายปี สิ่งที่ชาวบ้านทำได้คือการเฝ้าระวังเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ขบวนการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมนำของเสียมาทิ้งในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น แต่วิธีการดังกล่าวถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทางแต่ชาวบ้านไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ได้ เพราะไม่มีอำนาจ ดังนั้นจึงขอให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่อย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีการลักลอบทิ้งสารเคมีอยู่ แต่เพียงอาจจะเปลี่ยนจากพื้นที่สาธารณะมาเป็นพื้นที่ของเอกชน ดังนั้นต้องหาผู้ทำผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะเป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น