สธ.ส่งหน้ากากอนามัย 60,000 ชิ้น ช่วยประชาชน 5 จังหวัดภาคใต้ ป้องกันสูดฝุ่นละอองควันไฟป่าจากอินโดนีเซีย มั่นใจสถานการณ์ยังไม่ยุติโดยง่าย สั่งสถานบริการสาธารณสุขเฝ้าระวังเต็มที่ โดยเฉพาะ 4 กลุ่มเสี่ยง แนะอยู่บ้านปิดประตูหน้าต่างด้านรับลม และกลั้วคอด้วยน้ำเปล่าบ่อยๆ
วันนี้ (2 ก.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์ไฟไหม้ป่าบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งส่งผลกระทบให้มีหมอกควันไฟป่าพัดปกคลุมอย่างหนาแน่นในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส จนอาจส่งผลกระทบกับสุขภาพประชาชน ว่า สธ.ได้สั่งการให้สถานบริการสาธารณสุขใน 5 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่โรงพยาบาลศูนย์ จนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ให้เตรียมเครื่องมือเวชภัณฑ์ในการดูแลผู้ป่วย และเฝ้าระวังผู้เจ็บป่วยจากการสูดควันไฟป่า โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงจะเกิดอาการหลังสูดละอองควันไฟ เช่น ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ หอบหืด ผู้สูงอายุและเด็ก ได้สั่งการให้สำนักงานควบคุมป้องกันโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ส่งหน้ากากอนามัยให้ 5 จังหวัด จังหวัดละ 12,000 ชุด เพื่อแจกจ่ายประชาชนใส่ป้องกัน และให้กรมควบคุมโรค สำรองไว้ที่ส่วนกลางอีก 50,000 ชุด เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์ยังไม่ยุติง่าย
ด้าน นายแพทย์ สุวิช ธรรมเปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมป้องกันโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ 5 จังหวัดขณะนี้ยังไม่เกินมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ปริมาณของฝุ่นละอองใน 5 จังหวัดมากน้อยขึ้นอยู่กับทิศทางลมและปริมาณฝนที่ตกลงมา จากการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในโรงพยาบาลขนาดเล็กและใหญ่ พบว่า ยังไม่ส่งผลกระทบชัดเจน เฉลี่ย 50-100 คนต่อวันต่อแห่ง ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากในฤดูฝนมีผู้ป่วยเป็นหวัดอยู่แล้ว ทั้งนี้ ผลการสูดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก จนถึงอาการรุนแรง เกิดอาการเจ็บหน้าอก หลอดลมอักเสบ ในรายที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เมื่อเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดบวม จะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นจนอาจเกิดหัวใจวายได้
นายแพทย์ สุวิช กล่าวอีกว่า ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการหลังสูดฝุ่นละอองควันไฟ ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมี 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่นโรคกล้ามเนื้อหัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจวาย 2.โรคระบบทางเดินหายใจทุกชนิด เช่น โรคปอดบวม โรคภูมิแพ้ โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด 3.ผู้สูงอายุ เนื่องจากมักมีประจำตัวเช่นโรคหัวใจและโรคปอดแฝงอยู่มาก และ 4.เด็ก เพราะมีการเคลื่อนไหวมาก อัตราหายใจสูง ร่างกายกำลังเติบโต หากเกิดอาการแน่นหน้าออก หายใจลำบาก ขอให้ไปพบแพทย์
“ในการป้องกันไม่ให้สูดฝุ่นละอองควันไฟเข้าสู่ร่างกาย ประชาชนไม่ควรออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง และให้อยู่ในบ้าน โดยปิดประตูหน้าต่างด้านที่รับลม ซึ่งพัดหมอกควันลอยเข้าสู่ภายในบ้าน และเปิดทางด้านตรงข้ามกับทิศทางลม กลั้วคอด้วยน้ำสะอาดแล้วบ้วนทิ้งวันละ 3-4 ครั้ง งดการสูบบุหรี่ และควรดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อขับฝุ่นละอองออกจากร่างกาย หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ให้ใช้หน้ากากอนามัยหรือผ้าชุบน้ำหมาดๆ ปิดจมูก สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและทางเดินหายใจ ควรอยู่ในบ้าน เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม” นายแพทย์ สุวิช กล่าว