“ยิ่งลักษณ์” ร่วมฌาปนกิจยาเสพติดของกลางที่อยุธยา สั่งเร่งบำบัดผู้ติดยาปีนี้ให้ได้ 4 แสนคน สธ.เผย ยาเสพติดของกลางเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี เตรียมประสาน ป.ป.ส.-บชปส.สกัดการลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย ห่วงเยาวชนติดยา หลังพบผู้รับการบำบัดทั้งหมดกึ่งหนึ่งเป็นเยาวชน
วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 41 ตามแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ “พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด” โดยมี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ไพจิตร วราชิต ปลัด สธ. นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทูตานุทูต และผู้บริหารจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน
นายวิทยา กล่าวว่า ยาเสพติดของกลางที่เผาทำลายครั้งนี้ เป็นยาเสพติดให้โทษของกลางที่เก็บรักษาที่ อย.น้ำหนักรวมทั้งสิ้นกว่า 2,755 กิโลกรัม จาก 1,023 คดี รวมมูลค่ากว่า 6,900 ล้านบาท ประกอบด้วยยาเสพติด 12 ชนิด อาทิ ยาบ้า ยาไอซ์ เฮโรอีน ฝิ่น กัญชา คีตามีน มอร์ฟีน ฯลฯ ซึ่งครั้งนี้กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บชปส.) ได้นำกัญชาของกลางที่ตรวจพิสูจน์แล้ว น้ำหนักกว่า 1,324 กิโลกรัม มูลค่า 13 ล้านบาท มาร่วมเผาทำลายด้วย โดยวิธีไพโรไลติก อินซิเนอเรชัน (Pyrolytic Incineration) ซึ่งเป็นการเผาในเตาที่อุณหภูมิความร้อนสูงกว่า 850 องศาเซลเซียส ทำให้สารเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ทุกชนิด สลายตัวกลายเป็นเถ้าถ่านทั้งหมดภายในเวลารวดเร็ว ไม่สามารถนำไปใช้ได้อีก ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม
“นายกฯได้กำหนดให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ จัดตั้งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด (ศพส.) ขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาการระบาดอย่างเร่งด่วน และตั้งเป้าบำบัดผู้เสพติดสารเสพติด ซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยในปีนี้ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน จากที่คาดว่าน่าจะมีผู้ใช้ยาเสพติดประมาณ 2 ล้านคน” นายวิทยา กล่าว
รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า ปริมาณยาเสพติดให้โทษของกลางที่ อย.ตรวจรับ พบว่ามีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2553 ตรวจรับ 3,355.64 กิโลกรัม จาก 46,552 คดี ปี 2554 ตรวจรับ 4,480.49 กิโลกรัม จาก 49,628 คดี และในปี 2555 ยอดถึงเดือนมีนาคม ตรวจรับกว่า 688,179.59 กิโลกรัม จาก 67,235 คดี ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นยาไอซ์ประมาณร้อยละ 80 ของยอดคงคลัง โดยปัจจุบันพบว่ามีการลักลอบนำสารตั้งต้นที่มียาซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมมาสังเคราะห์เป็นเมทแอมเฟตามีน และกำลังเป็นปัญหาในเรื่องของการควบคุมทั้งภายในและระหว่างประเทศ ซึ่ง อย.ได้ควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งการส่งออกและนำเข้า รวมทั้งประสานกับหน่วยงานปราบปรามยาเสพติด เช่น ป.ป.ส. บชปส.สกัดกั้นการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง
“หลังจากเผาทำลาย จะมียาเสพติดให้โทษของกลางที่ยังเหลือและเก็บรักษาที่ อย.อีกกว่า 24 ตัน มูลค่า 72,000 ล้านบาท ซึ่งของกลางที่เก็บรักษาไว้ หากไม่มีการฟ้องร้องต่อศาล หรือได้ทราบผลการพิพากษาคดีจากศาลชั้นต้นแล้ว ทาง อย.จะนำยาเสพติดให้โทษของกลางในคดีนั้นๆ มาขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการกลาง เพื่อขออนุมัติทำลายต่อไป” นายวิทยา กล่าว
ด้าน นพ.ไพจิตร กล่าวว่า ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด สธ.มีโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดให้บริการบำบัดฟื้นฟูรวม 1,287 แห่งทั่งประเทศ ผลดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554-25 มิถุนายน 2555 มีผู้เข้ารับการบำบัด 352,503 คน คิดเป็นร้อยละ 88 ของเป้าหมาย เป็นผู้บำบัดโดยระบบสมัครใจมากที่สุด 231,889 คน รองลงมาคือระบบบังคับ 109,485 คน ค่ายบำบัด เป็นบริการเชิงรุกเข้าในชุชนต่างๆ รวมทั้งหมด 1,266 แห่ง เกินเป้าหมายตั้งไว้ 928 แห่ง และอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ให้มีความเชี่ยวชาญด้านยาเสพติด จำนวน 66,083 เพื่อติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษาและกลับไปอยู่ในหมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ ให้เลิกยาเสพติดได้อย่างเด็ดขาด
“จากการวิเคราะห์กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่เข้ารับการบำบัดพบว่า 1 ใน 2 เป็นเยาวชนอายุระหว่าง 7-24 ปี จัดว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดและอยู่ในวัยเรียน ร้อยละ 92 เป็นชาย โดยเป็นผู้เสพที่ยังไม่ติดร้อยละ 70 เป็นผู้ติดยาร้อยละ 28 และเป็นผู้เสพติดอย่างรุนแรงร้อยละ 2 ยาเสพติดที่ใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยาบ้าร้อยละ 81 กัญชา ร้อยละ 4 และกระท่อม ร้อยละ 3 อาชีพที่ใช้ยาเสพติดมากที่สุดคือรับจ้าง ซึ่งรวมถึงผู้ใช้แรงงานและพนักงานโรงงาน ร้อยละ 46 รองลงมาคือว่างงาน ร้อยละ 18 และเกษตร ร้อยละ 15” ปลัด สธ.กล่าว
นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า สธ.ได้เปิดให้บริการสายด่วนยาเสพติดหมายเลข 1165 มี 12 คู่สาย เพื่อให้ผู้ที่ประสบปัญหาการเข้าถึงบริการปรึกษาปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง มีทั้งบริการสายสด มีเจ้าหน้าที่ตอบคำถาม และระบบข้อความอัตโนมัติ พบว่าได้ผลดี มีผู้ใช้บริการสายสดเฉลี่ยวันละ 50-70 ครั้ง ระบบข้อความวันละ 100 ครั้ง ส่วนใหญ่สอบถามข้อมูลการบำบัด รองลงมาการสังเกตอาการผู้ติดยาเสพติดและการแก้ปัญหาเบื้องต้น ในปี 2554 มีผู้ใช้บริการ 7,251 ครั้งในรอบ 6 เดือน ในปี 2555 นี้ มีผู้ใช้บริการแล้ว 30,000 ครั้ง