xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.คัดเด็กกลุ่มเสี่ยงเข้าอบรมปฏิบัติธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุชาติ” จี้ สอศ.-สช.เร่งเอาเด็ก นร.ทั่วไปจาก 36 โรงเรียนกลุ่มเสี่ยงเข้าอบรมปฏิบัติธรรม หลังสั่งมาหลายเดือนแต่พบไม่ค่อยทำตาม ขณะที่ สอศ.เตรียมร่างระเบียบหลักเกณฑ์พิจารณาลงโทษ นร.ใน 4 ระดับ ตักเตือน-ทำทัณฑ์บน-ตัดคะแนนความประพฤติ-ทำประโยชน์ให้สังคม

วันนี้ (25 มิ.ย.) นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยภายหลังประชุม ร่วมกับผู้บริหารวิทยาลัยกลุ่มเสี่ยง เพื่อหารือรายละเอียดมาตรการเฝ้าระวังและป้องปรามนักเรียน นักศึกษาทะเลาะวิวาท ตามเป้าหมายให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข มีคุณภาพ และปลอดภัย ว่า ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขไว้ 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.มาตรการดูแลนักเรียนกลุ่มเสี่ยงมาก ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่มากนัก แบ่งเป็นวิทยาลัยของรัฐประมาณ 50 คน และเอกชน 80 คน ไปเรียนนอกสถานที่ระยะเวลา 3 เดือนใช้หลักสูตรเข้มข้น โดยมีครู พระ และทหารดูแล 2.มาตรการดูแลเด็กกลุ่มปกติประมาณ 32,000 คน โดยสร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจเน้นการพัฒนาจิต 3.มาตรการดูแลติดตาม และประสานงานที่จะทำอย่างไรให้เด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต และ 4.มาตรการที่จะให้มีคณะทำงานในการคิดหาแนวทางบังคับแกน เพื่อทำให้นักเรียนอาชีวศึกษามีความสุขในการเรียน ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะเริ่มใช้ทันทีตั้งแต่สัปดาห์นี้ เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ได้ประสานวัดธรรมกาย เพื่อนำนักเรียนอาชีวศึกษาทุกวิทยาลัยมาฝึกปฏิบัติธรรม โดยจะจัดส่งเข้าอบรมปฎิบัติธรรมรุ่นๆ ละ 300 คน หลักสูตร 3 วัน 2 คืน ส่วนนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้มีติดต่อประสานงานกับศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เขตหนอกจอก เพื่อนำนักเรียนอาชีวศึกษามาอบรมให้ความรู้ตามหลักศาสนา เพื่อพัฒนาจิตใจปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในการอยู่ร่วมกันกับคนในสังคมอย่างมีความสุข ซึ่งจะเริ่มดำเนินการฝึกอบรมในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ ส่วนกรณีการจัดการเรียนการสอนนอกสถานที่สำหรับนักเรียนกลุ่มเสี่ยงในค่ายทหารนั้น จะใช้ระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2555 ใช้หลักสูตรแบบสึนามิโมเดล โดยให้นักเรียนมีการวางแผนทำโมเดลชิ้นงานร่วมกัน เพื่อเป็นการสร้างความผูกพันและความสามัคคีให้กับเด็ก ส่วนนักเรียนปกติก็จะจัดกิจกรรมทางวิชาการแบบเข้มข้นเสริมให้

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ สอศ.จะส่งร่างระเบียบวิทยาลัย...ว่าด้วย หลักเกณฑ์การพิจารณาโทษนักเรียน นักศึกษา พ.ศ.... ให้ทุกวิทยาลัยนำไปปรับใช้ เพื่อให้มีมาตรการและหลักเกณฑ์การพิจารณาโทษที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งโทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิดมี 4 สถาน ดังนี้ 1.ว่ากล่าวตักเตือน ใช้ในกรณีทำความผิดไม่ร้ายแรง 2.ทำทัณฑ์บน ในกรณีความผิด ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสภาพนักเรียนนักศึกษา ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติศักดิ์ของสถานศึกษา ฝ่าฝืนระเบียบสถานศึกษา ถูกกล่าวตักเตือนแล้วแต่ยังไม่เข็ดหลาบ 3.ตัดคะแนนความประพฤติ โดยผู้มีอำนาจสั่งตัดคะแนนความประพฤติ ได้ครั้งและไม่เกิน 51 คะแนน รอง ผอ.หัวหน้าฝ่ายปกครอง ครั้งละไม่เกิน 10 คะแนน และ ผอ.วิทยาลัย ครั้งละไม่เกิน 30 คะแนน ในกรณีดังนี้ หนีเรียน เล่นการพนัน พกอาวุธปืนหรือระเบิด ซื้อ จำหน่าย แลกเปลี่ยนสุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เสพยาเสพติด ลักทรัพย์ ก่อเหตุทะเลาะวิวาทโดยใช้อาวุธ เป็นต้น

และ 4.ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาทิ ขโมยทรัพย์สินของวิทยาลัย หรือของบุคคลอื่นโดยปรากฏหลักฐานชัดเจน ความผิดึ่งคณะกรรมการปกครองนักเรียนเห็นว่าเป็นความผิดสถานหนัก ยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อวิทยาลัย หรือชุมชน เรียกร้องชุมนุมประท้วงต่างๆ โดยมิชอบ เป็นผู้นำในการซ่องสุม ก่อกวนความสงบเรียบร้อย ยกพวกก่อการทะเลาะวิวาท ขาดเรียนเกิน 15 วัน โดยไม่แจ้งให้วิทยาลัยรับทราบ หรือมีเหตุอันสมควร เป็นต้น ทั้งนี้ ในการสั่งลงโทษนักเรียนนักศึกษา ทุกระดับโทษ ให้ทำบันทึกประวัติในแฟ้มประจำตัวนักเรียนนักศึกษา และให้ดำเนินการ ดังนี้ การทำทัณฑ์บนให้ทำเป็นหนังสือ และเชิญบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาบันทึกรับทราบความผิดและรับรองการทำทัณฑ์บนไว้ด้วย การตัดคะแนนความประพฤติตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป ให้เชิญบิดามารดา หรือผู้ปกครองมารับทราบด้วย การจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศธ.กำหนด

ด้าน ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เร่งกำชับให้วิทยาลัยกลุ่มเสี่ยงทั้ง 36 ส่งนักเรียนทุกคนไปเข้ารับปฏิบัติธรรมที่วัดทันที จริงๆ แล้ว ตนได้มอบนโยบายนี้ไปตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียน แต่ปรากฏว่า หลายแห่งก็ยังไม่ได้ทำตามนโยบาย ส่งนักเรียนไปอบรมปฏิบัติธรรม จึงได้กำชับผู้บริหารทั้งของ สอศ.และ สช.ไปอีกครั้ง หากสถานศึกษาแห่งใดไม่ยอมทำตามแล้วเกิดเรื่องขึ้นมาอีกก็จะต้องรับผิดชอบ

ในวันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.30 น.ที่บริเวณหน้าอาคาร สอศ.นายศักดา คงเพชร รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถลาดตระเวนเฝ้าระวังเหตุ เพื่อป้องกันปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา อาชีวศึกษา เพื่อประจำที่ศูนย์ป้องกันเหตุทะเลาะวิวาท 4 ศูนย์รอบ กทม.และปริมณฑล ได้แก่ ศูนย์จตุจักร, ศูนย์อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, ศูนย์สวนหลวง ร.9, ศูนย์ธนบุรี พร้อมกล่าวว่า รถลาดตระเวนจะช่วยลดปัญหาการทะเลาะวิวาทได้ในระดับหนึ่ง โดยจะดูแลพื้นที่ 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงเช้าก่อนเข้าเรียนถึงบ่าย และช่วงเย็น หลังเลิกเรียนถึงเวลา 20.00 น.

นอกจากนี้ ยังประสานกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.เตรียมติดกล้องวงจรปิดภายในรถเมล์ทุกคัน จึงได้เสนอให้ ขสมก.หันหน้ากล้อง 1 ตัวออกด้านนอกตัวรถทางซ้ายมือ ซึ่งจะส่องให้เห็นภาพความเป็นไปบนทางเท้ารอบกรุง เพื่อตรวจจับการรวมกลุ่มก่อเหตุของนักศึกษา รวมไปถึงจับตาดูเหล่ามิจฉาชีพทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น การปล้น จี้ ชกชิงวิ่งราว หรือวางระเบิด เพื่อป้องกันอาชญากรรมทุกประเภทในกรุงเทพฯ และรถเมล์ของ ขสมก. ก็วิ่งตลอด 24 ชั่วโมง เปรียบเสมือนเรามีตาวิเศษ หรือ ตาทิพย์ สอดส่องทุกพื้นที่เพื่อป้องกันอาชญากรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น