หลายๆ พื้นที่จมน้ำไปเรียบร้อยแล้ว บางพื้นที่ก็มีน้ำเข้าท่วมในระดับต่างๆ กันไปตามความสูงของพื้นที่ บางบ้านก็เฝ้าระวังมานานเกือบเดือนแล้ว น้ำก็ยังไม่มาสักที เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของสภาวะความเครียด ที่มาโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้บางคนถึงกับหมดอาลัยตายอยาก ไม่มีกำลังใจจะทำงาน หรืออย่างร้ายที่สุด เครียดจนถึงขั้นฆ่าตัวตายก็มีให้เห็นในข่าวแล้ว
คิดเสียว่าน้ำมาแล้วเดี๋ยวมันก็ไป แต่ระหว่างนี้สภาวะความเครียดจากความกลัว กลัวข้าวของจะเสียหาย กลัวเรื่องที่อยู่อาศัยไม่สะดวกสบาย กลัวเรื่องอาหารการกิน ของแพง และอีกสารพัด ก็เป็นสิ่งที่ควรดูแล เริ่มจากการตั้งสติ มองทุกอย่างด้วยความเป็นจริง หาความรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์วิกฤติน้ำท่วม เมื่อช่วยตัวเองแล้วก็ช่วยเหลือ แบ่งปันให้ผู้อื่น ส่วนที่เหลือก็คิดซะว่าเป็นหน้าที่บริหารจัดการของรัฐบาล การคิดเบื้องต้นเช่นนี้ก็จะช่วยให้ปัญหาการวิตกจนเกินเหตุ การกักตุนสินค้า ตลอดจนการรอคอยความช่วยเหลือจากคนอื่นก็จะลดลง
น้ำไม่ท่วมเครียดกว่าน้ำท่วม
ระหว่างน้ำท่วมกับกลัวน้ำท่วม อย่างไหนจะน่ากลัวกว่ากัน สำหรับคนที่บ้านน้ำท่วมไปแล้วอาจจสบายกว่าเพราะผ่านช่วงลุ้นไปแล้ว ส่วนคนที่บ้านยังน้ำท่วมก็จะอยู่ในสภาวะวิตกกังวล เสพข่าวทุกวัน รอคอยว่าเมื่อไหร่จะถึงตาตัวเองบ้าง ซึ่งเรื่องนี้นพ.กัมปนาท แนะนำว่าให้คิดถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดว่าน้ำท่วมบ้านทั้งหมดไว้ก่อน แล้วตั้งสติเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่นั่งรออย่างเดียว
“ปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาวะความเครียดอาจจะมาจากหลายๆ ปัจจัย ก่อนอื่นก็ต้องสังเกตตัวเองว่าเป็นคนอย่างไร เป็นคนวิตกกังวลง่ายอยู่แล้วหรือเปล่า ก็อาจจะทำให้เกิดความเครียดได้ง่ายกว่าคนอื่น เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร ก็ควรปรับตัวต่อสถานการณ์
สำหรับคนที่ติดค้างอยู่ในบ้าน เมื่อตัดสินใจอย่างนั้นแล้ว ก็ต้องตั้งสติ เตรียมบ้าน เตรียมอาหาร น้ำดื่มให้พร้อม ให้พอดี คำนวณว่าจะอยู่กี่วัน อย่าให้เป็นภาระผู้อื่น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่เครียดไม่แพ้กัน เพราะได้แต่รอ เปิดดูข่าววันละหลายชั่วโมง เดี๋ยวมีข่าวว่าให้อพยพ ตรงโน้นน้ำท่วมหลายเมตร คันกั้นน้ำตรงนั้นแตก เจอแต่ข่าวปัญหาหลายๆ ด้าน จนเกิดภาพ และทำให้จินตนาการไปล่วงหน้า ยิ่งดูติดต่อเป็นเวลานานก็ยิ่งเหนื่อยล้า เกิดความเครียดอย่างไม่รู้ตัว
การติดตามข่าวสารก็ควรติดตามอย่างพอดี ประมาณ 1 ชั่วโมงคือตัวเลขที่กำลังดี คือดูแค่ข่าวต้นชั่วโมง ดูวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมจากนักวิชาการ เมื่อมีความรู้แล้ว ก็มาทำความเข้าใจ สังเกตจากเหตุการณ์รอบด้านแถวๆ บ้านตัวเอง ก็จะช่วยให้มีความมั่นใจที่รับมือปัญหาน้ำท่วมได้มากขึ้น กรมสุขภาพจิตก็มีการจัดทีมออกไปตามศูนย์พักพิงต่างๆ เพื่อดูแลผู้ที่ประสบกับสภาวะความเครียด
ส่วนผู้ที่ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ศูนย์อพยพ ก็เป็นสถานที่ที่ช่วยเหลือสภาพจิตใจเบื้องต้น คือได้รับความปลอดภัย ได้รับการเยียวยา ในเรื่องที่อยู่อาศัย อาหารการกินในเบื้องต้น”
คุณหมอแนะนำต่อว่า ผู้ประสบภัยใน1-2วันแรก อาจจะรู้สึกว่าไม่อยากทำอะไร แต่เมื่อได้รับการเยียวยาแล้ว จิตใจสงบขึ้นแล้ว ก็ควรที่จะลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเอง และคนอื่นต่อๆ ไป เช่นช่วยดูแลเรื่องความสะอาด ดูแลเรื่องอาหารการกิน ใช้เวลาที่อยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่สำคัญต้องมีความหวัง
‘ความกลัว’ ก่อเกิดโรคเครียด
ความเครียดที่ประสบอยู่ทุกวันนี้ คุณหมอบอกว่าส่วนใหญ่เกิดจากความกลัว ไม่ได้กลัวน้ำ เพราะน้ำไม่ได้น่ากลัว แต่ที่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดมาจากความกลัวว่าข้าวของ เครื่องใช้จะเสียหาย
“ช่วงที่เกิดเหตุการณ์แรกๆ สภาพจิตใจจะอยู่ในช่วงปฏิเสธ ไม่ยอมรับ แต่ความกลัวที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเพราะว่าน้ำจะมา แต่ประเด็นคือกลัวว่าข้าวของจะเสียหาย ห่วงของ ห่วงบ้าน ประกอบกับอีกหลายๆ ปัจจัยคือ อาหารก็หายาก ของก็ราคาแพงขึ้น หลังจากเกิดความกลัว เกิดอาการตื่นตระหนกแล้ว พอเวลาผ่านไป เกิดความเคยชิน ยังเสพข่าวอยู่ แต่น้อยลง เริ่มมองหาอะไรอย่างอื่นทำ เช่น ทำความสะอาดบ้าน ดูแลเรื่องอาหารการกิน การดูแลตัวเองก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
ในที่สุดแล้วในภาวะวิกฤต ที่คาดคิดว่ามันเลวร้ายที่สุด ถ้าเตรียมรับมือกับมันอย่างมีสติ มีการปรับความคิด ทำจิตใจให้สงบไม่ว่าน้ำจะท่วมบ้าน หรือยังไม่ท่วม ก็สามารถอยู่กับมันได้
ระดับความรุนแรงของความเครียด เริ่มจากความเครียดสะสม ถ้าเป็นนระยะเวลานานเกินไป อาจจะก่อให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื้อรังสะสมมานาน เช่น ปัญหาหนี้สิน หรือเรื่องส่วนตัวมาก่อน พอมาเจอสถานการณ์เช่นนี้ ก็อาจจะคิดสั้นถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ คนใกล้ชิดก็ต้องคอยสังเกตุ และดูแลอย่างใกล้ชิด”
อีกหนึ่งปัญหาสำหรับหลายๆ บ้านคือ พ่อแม่ไม่ยอมย้ายออกจากบ้าน ซึ่งเรื่องนี้คุณหมอบอกว่าเป็นธรรมชาติของผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ห่วงข้าวของ ไม่อยากออกไปไหน ส่วนลูๆ ก็เป็นห่วง อยากให้พ่อแม่อยู่ในที่ที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องต้องคุยกันอย่างระมัดระวัง ต้องให้เกียรติพ่อแม่ ในการตัดสินใจ ไม่ไปบังคับ หรือหงุดหงิด แต่ควรค่อยๆ แทรกเหตุผล ทำให้พ่อแม่เชื่อแล้วให้ท่านตัดสินใจเอง
10 ข้อ ดูแลสุขภาพจิตช่วงน้ำท่วม
ในภาวะวิกฤติน้ำท่วมแบบนี้หลายคนเกิดภาวะเครียดมากมาย หากจะบอกให้คุณหยุดเครียด หยุดกังวลคงจะทำได้ยากดังนั้นเราจึงมี 10 ข้อคิดดีๆ ที่จะช่วยดูแลสุขภาพจิตของคุณช่วงน้ำท่วม
1. ตั้งสติให้มั่น มองทุกปัญหาว่ามีทางแก้ไข
2. หากรู้สึกท้อใจ ให้ค้นหาแหล่งสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง ได้แก่ ความรักความผูกพันกับคนในครอบครัว ความศรัทธาทางศาสนา การมีเป้าหมายชีวิตที่มีคุณค่า ความเชื่อว่าปัญหาจะผ่านไปแล้วจะดีขึ้น การมองเห็นสิ่งดีๆ ในชีวิต
3. ฝึกหายใจคลายเครียด และทักษะผ่อนคลายอื่นๆ
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
5. พูดคุยกับคนใกล้ชิด อย่าคิดคนเดียว ช่วยกันปรึกษาหารือแปลงปัญหาเป็นโอกาสในการสร้างความผูกพันใกล้ชิดต่อกัน
6. บริหารร่างกายเป็นประจำ เท่าที่สภาพแวดล้อมจะเอื้ออำนวยอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที วันเว้นวัน
7. ศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา
8. มองหาโอกาสในการช่วยเหลือผู้อื่น เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน
9. คิดทบทวนสิ่งดีๆ ในชีวิตเป็นประจำทุกวัน
10. จัดการปัญหาทีละขั้นตอน ทำในสิ่งที่ทำได้สร้างความรู้สึกสำเร็จเล็กๆ จากสิ่งที่ทำ ไม่จมอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ หลีกเลี่ยงการใช้สุราหรือสารเสพติดในการจัดการความเครียดหรือความทุกข์ใจ
ทั้งนี้หากไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อรักษา เพราะความเครียดรุนแรงนำไปสู่โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้
ขอบคุณข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต และ นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
ข่าวโดย Manager Lite / ASTV ผู้จัดการ