ประธานเครือข่ายพนักงานมหา’ลัย แจงขอแก้ พ.ร.บ.ก.พ.อ.ไม่หวังได้สิทธิ์เท่า ขรก.ระบุ ปัจจุบันบางมหา’ลัยไม่ได้จ่ายเงินให้มากกว่า ขรก.30% อย่างที่เข้าใจ ชี้ ระบบประเมินมหาลัย มีปัญหา ไม่เป็นธรรม กลั่นแกล้งคนดี
นายสุมิตร สุวรรณ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในฐานะประธานเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา กล่าวถึงกรณีที่ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ระบุถึงกรณีการขอแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 เป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน และพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ..... ว่า หากจะปรับแก้กฎหมายเพื่อให้พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่าเทียมกับข้าราชการ คงต้องถามกลับไปว่า พนักงานมหาวิทยาลัยยินดีหรือไม่ที่จะถูกปรับลดเงินเดือนลง 30% เพราะทุกวันนี้พนักงานมหาวิทยาลัยได้เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ 30% ว่า เรื่องดังกล่าวต้องคุยกันในรายละเอียด และตนอยากให้ทุกฝ่ายคุยกันให้เข้าใจมากกว่าไม่ใช่มาพูดคนละทีสองที
“หากมีคำถามว่า หากให้มีการแก้ พ.ร.บ.ตามที่เครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัยเสนอ แล้วจะต้องลดเงินเดือนของพนักงานมหาวิทยาลัยลง 30% ไปด้วยหรือไม่นั่น ตนมองว่าจะกลายเป็นประเด็น เพราะขณะนี้พนักงานมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พ.ศ.2542 อยู่แล้ว อีกทั้ง มติ ครม.ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหา “สมองไหล” และต้องการดึงดูด “คนดีและคนเก่ง” ให้เข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัย แต่ที่ผ่านมา บางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ให้เงินเดือนพนักงานขึ้นถึง 30% และบางแห่งกลับได้เงินเดือนเท่ากับข้าราชการด้วยก็มี ทั้งที่ของการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยเคยระบุไว้ คือ พนักงานมหาวิทยาลัยจะต้องได้รับสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ ไม่น้อยกว่าระบบราชการ โดยอาจเปลี่ยนรูปแบบไป ดังนั้น เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น จึงไม่ควรเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดสวัสดิการ”นายสุมิตร กล่าว
นายสุมิตร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การที่ทางเครือข่ายเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 มาเป็น พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.... นั้น ไม่ได้หมายความว่า จะต้องได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกับข้าราชการทุกอย่าง แต่ขอให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแลพนักงานมหาวิทยาลัยใหม่ที่ดูดีกว่าปัจจุบัน อาทิ เรื่องเงินบำนาญที่ข้าราชการได้รับ ในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัยก็อาจจะจัดให้มีการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นมาเพื่อดูแลส่วนนี้ โดยใช้งบประมาณที่รัฐบาลให้มาถัวเฉลี่ยและบริหารจัดการให้เหมาะสม โดยระบบใหม่ คือพนักงานมหาวิทยาลัย ต้องเป็นระบบที่ดึงดูดและรักษา “คนดีและคนเก่ง” ให้เข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัย เพราะระบบพนักงานมหาวิทยาลัยแบบเก่ามีเสียงเสียงสะท้อนมากมาย และมีข้อมูลตัวเลขการลาออกจำนวนมากของพนักงานมหาวิทยาลัยทุกแห่ง
นอกจากนี้ ผลการวิจัยเรื่อง การจัดระบบเงินเดือนและสวัสดิการพนักงานมหาวิทยาลัย พบว่า พนักงานมหาวิทยาลัยใน 8 สถาบัน มีความคิดที่จะลาออกหรือเปลี่ยนงานใหม่มากถึงร้อยละ 37.4 ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า ควรจะมีระบบประเมินการทำงานเช่นเดิม โดยคนที่ด้อยประสิทธิภาพก็ต้องถูกประเมินออก ซึ่งตนเห็นด้วยและไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องนี้ แต่คนที่มีประสิทธิภาพก็ควรได้ทำงานต่อ ดังนั้น มหาวิทยาลัยทุกแห่งจึงควรต้องมีระบบประเมินที่มีความเป็นธรรม ไม่ใช่ระบบที่กลั่นแกล้งคนดี
“ที่ผ่านมา พนักงานมหาวิทยาลัยหลายคนเจอปัญหาความไม่มั่นคงในการทำงาน หลายคนถูกปลดออกเพราะถูกกลั่นแกล้ง และไม่ได้รับความเป็นธรรม มีหลายกรณีที่กำลังดำเนินการฟ้องร้องอยู่ในศาลปกครอง และหากจะถามกันตามจริง เชื่อว่า พนักงานมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่อยากกลับไปเป็นข้าราชการ แต่ก็เข้าใจว่า เป็นเรื่องยาก และพนักงานมหาวิทยาลัยก็เกิดขึ้นมาถึง 13 ปีแล้ว เราก็ควรจะเดินหน้าสร้างระบบที่ดีมากกว่าที่จะขอกลับไปเป็นข้าราชการ”นายสุมิตร กล่าว