“กลุ่มเครือข่ายครอบครัวและเด็ก” ร้อง กสทช.จัดการผู้รับผิดชอบรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ เหตุปล่อยภาพสาวโชว์เต้าวาดรูปออกอากาศผ่านฟรีทีวี ชี้ต้องขอโทษผู้ชม พร้อมจี้จัดสรรเวลาออกอากาศด้วย
วานนี้ (18 มิ.ย.) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก และเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ โดย นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ นำหนังยืนต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีการออกอากาศรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน 2555 ในการแสดงโชว์ของ น.ส.ดวงใจ จันทร์เสื้อน้อย ซึ่งเป็นการแสดงโดยใช้ร่างกายระบายสีโดยเน้นการใช้หน้าอก และเทสีลงบนร่างกายเพื่อถูไถบนผ้าใบสีขาวด้วยท่าทางที่ยั่วยวน โดยไม่คำนึงถึงคนที่นั่งชมอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก และเยาวชน
จากการแสดงดังกล่าว กลุ่มเครือข่ายครอบครัว เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก พิจารณาร่วมกันแล้วว่า เป็นการแสดงที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลที่เป็นการออกอากาศทางฟรีทีวี และออกอากาศในช่วงไพรม์ไทม์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีผู้รับชมมากที่สุด อีกทั้งการแสดงดังกล่าวเป็นเทปบันทึกภาพซึ่งไม่ใช่รายการสด ผู้ผลิตสามารถตัดการนำเสนอได้ แต่ผู้ผลิตและสถานีไม่ดำเนินงาน แสดงให้เห็นว่าจงใจนำเสนอ และการแสดงดังกล่าวในห้องส่ง ผู้ชมที่เป็นเยาวชนก็อยู่ด้วย ซึ่งขณะบันทึกภาพไม่สามารถเบลอภาพได้ ดังนั้นเยาวชนก็จะได้เห็นภาพสดทั้งหมด
ในการนี้ เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องมายังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ดำเนินการกับสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ใน 3 ข้อเสนอ คือ 1. ให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ออกมาขอโทษผู้ชม ที่ผลิตและออกอากาศรายการดังกล่าว เป็นการทำธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน ครอบครัวและสังคม 2. ให้คณะกรรการ กสทช.ลงโทษตามบทบัญญัติที่มีตามอำนาจหน้าที่ของท่านอย่างสูงสุดให้เป็นแบบอย่าง เพื่อสร้างมาตรฐานการผลิตรายการและการออกอากาศรายการ มิให้มีการผลิตรายการและออกอากาศรายการในลักษณะนี้ในอนาคตข้างหน้า และ 3. ให้คณะกรรการ กสทช.เร่งดำเนินการเรื่องการจัดสรรช่วงเวลาออกอากาศ ให้เป็นไปตามหลักสากลเหมือนประเทศอื่นๆ ที่มีการระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ (เรตติ้งเชิงคุณภาพ) เป็นการเร่งด่วนและควรรายงานให้สาธารณชนรับทราบถึงผลการดำเนินการของ กสทช.ด้วย