xs
xsm
sm
md
lg

อภ.แนะวิธีรับประทานยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ผอ.อภ.แนะวิธีรับประทานยาปฏิชีวนะ ใช้ยาเฉพาะกรณีมีการติดเชื้อแบคทีเรียจริง ใช้ยาในขนาดระยะเวลาอย่างเคร่งครัด และวิธีการที่ถูกต้อง ภายใต้การคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร ใช้เมื่อจำเป็น ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะเก็บไว้ใช้เองคราวละมากๆ

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยถึงวิธีการใช้ยาปฏิชีวนะ ว่า ยาปฏิชีวนะเป็นคำที่ใช้เรียกสารเคมีทางยาที่มีฤทธิ์ในการยับยั้ง หรือทำลายเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ยากลุ่มเพนิซิลิน แก้อักเสบ หรือติดเชื้อ เมื่อได้ยาปฏิชีวนะแล้ว จะต้องทานยาทุกวันจนครบกำหนด แม้ว่าจะไม่มีอาการของโรคก็ตามซึ่งปัญหาจะเกิด เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจ เกี่ยวกับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ทำให้บางครั้งหยุดยาก่อนกำหนด หรือไม่กินตามเวลาที่แพทย์สั่ง หรือกินผิดวิธี ทำให้ปริมาณยาที่ได้รับไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ ทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียค่อนข้างมาก จะเห็นได้ชัดเจนจากการเกิดปัญหาในการรักษาโรคติดเชื้อ เนื่องจากเชื้อจะไม่ถูกยับยั้ง หรือทำลายด้วยยาปฏิชีวนะที่เดิมเคยใช้ได้ผล ส่งผลให้อาการไม่ทุเลาต้องรับยาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การดื้อยาปฏิชีวนะ อาจพบในแบคทีเรียกลุ่มจุลชีพประจำถิ่น (normal flora) ซึ่งปกติอาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์โดยไม่ก่อให้เกิดโรค แต่จะทำหน้าที่ในการป้องกันร่างกาย จากการติดเชื้อของแบคทีเรียก่อโรค การดื้อต่อยาอาจไม่เห็นผลโดยตรงต่อมนุษย์ แต่จุลชีพประจำถิ่นเหล่านี้ จะเป็นแหล่งสะสมของสารพันธุกรรม (gene) ที่ควบคุมการดื้อยา และพร้อมที่จะถ่ายทอดให้แก่เชื้อแบคทีเรียก่อโรคดื้อยาได้ตลอดเวลา

ผอ.อภ.กล่าวต่อไปว่า ความล้มเหลวของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะนั้น อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ เลือกยาผิดชนิด คือ ยาไม่มีฤทธิ์ที่ครอบคลุมเชื้อที่ก่อโรค ใช้ยาผิดขนาด คือขนาด หรือปริมาณยาที่ได้รับไม่เหมาะสมที่จะทำลายเชื้อก่อโรคได้ กินไม่ถูกวิธี โดยยาบางชนิดต้องกินก่อนอาหาร ในขณะที่บางชนิดต้องกินหลังอาหาร ยาบางชนิดห้ามกินร่วมกับนม เป็นต้น ทำให้ปริมาณยาปฏิชีวนะที่ได้รับจริง ไม่เพียงพอที่จะกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคกลายเป็นเชื้อที่ดื้อยา ก็เท่ากับว่า เชื้อสามารถทนทานต่อการทำลายมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า เชื้อมีความรุนแรงในการทำให้เกิดโรคลุกลามมากขึ้น รักษาหายยาก และเมื่อเกิดการดื้อของเชื้อต่อยาชนิดหนึ่ง มักจะมีการดื้อต่อยาหลายๆ กลุ่มตามมา ทำให้มียาที่จะให้เลือกใช้น้อยมาก หรืออาจไม่มียาใดรักษาได้ในที่สุด

ดังนั้น การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง ได้แก่ ใช้ยาเฉพาะกรณีมีการติดเชื้อแบคทีเรียจริง ใช้ยาในขนาดระยะเวลาอย่างเคร่งครัด และวิธีการที่ถูกต้อง ภายใต้การคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร ใช้เมื่อจำเป็น ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะเก็บไว้ใช้เองคราวละมากๆ เนื่องจากการติดเชื้อแต่ละประเภทนั้น จะต้องใช้ยาให้เหมาะกับเชื้อที่เป็นสาเหตุ ซึ่งในแต่ละครั้งอาจต่างกันไป จึงควรไปพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง กรณีเกิดอาการที่สงสัยว่า เป็นการแพ้ยาให้รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรง ควรหยุดใช้ยาทันที แล้วรีบนำยาที่ใช้ขณะนั้นทั้งหมด ไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษา หรือเภสัชกร เมื่อทราบว่าแพ้ยาใดแล้ว จะต้องจดจำไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงยาดังกล่าวในการรักษาโรคครั้งต่อๆ ไป

ปัญหาอีกเรื่องที่สำคัญและไม่ควรปฏิบัติ คือ การแบ่งยาปฏิชีวนะของตนเองให้กับผู้อื่นที่เป็นโรคติดเชื้อ เนื่องจากโรคของผู้อื่นอาจไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้อตัวเดียวกับที่ตนเองเป็น ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะที่สงสัยว่าเสื่อมหรือหมดอายุแล้ว สังเกตได้จากวันหมดอายุซึ่งพิมพ์อยู่บนแผง กล่อง หรือขวดยา หรือลักษณะโดยทั่วไปของยา เช่น เม็ดยาชื้นแฉะ มีสีซีดจาง หรือแตกร้าว เป็นต้น ถ้าเป็นยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้ง ที่ต้องละลายน้ำก่อนใช้ ควรเก็บยาที่ละลายแล้วไว้ในตู้เย็น และใช้ให้หมดภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เกิน 7-10 วัน ยาปฏิชีวนะบางอย่างมีข้อควรระวังพิเศษในการใช้ เช่น ทำให้คลื่นไส้อาเจียน มีผลพิษต่อตับหรือไต มีปฏิกิริยาต่อกันกับยาอื่น มีปฏิกิริยากับอาหารบางประเภท เป็นต้น กรณีเช่นนี้ เภสัชกรจะให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น เมื่อเกิดความเจ็บป่วยที่สงสัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ จึงไม่ควรลองรักษาตัวเองด้วยการซื้อยาปฏิชีวนะมากิน โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ถ้าหากโชคดีโรคก็จะหายแต่ถ้าโชคร้ายโรคอาจลุกลามจนถึงขั้นรุนแรง เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน และหากใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกหลักการ ยังมีผลกระทบต่อสังคมด้วย เช่น การกระตุ้นให้เกิดเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ดื้อยาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรักษาโรคติดเชื้อนั้นในอนาคต ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมในการลดปัญหาดื้อยา ด้วยการใช้ยาให้ถูกวิธี ถูกโรค ถูกคนเฉพาะเราไม่แบ่งยาให้คนอื่น ถูกขนาดและถูกเวลา ตามคำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกร ผู้อำนวยการ กล่าวในตอนท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น