รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยจากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียมานานกว่า 10 ปี ของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า เชื้อแบคทีเรียหลายชนิดในประเทศไทยมีแนวโน้มดื้อยาเพิ่มขึ้น ชี้การควบคุมการใช้ยาเป็นมาตรการหนึ่งในการชะลอเชื้อดื้อยา รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการชันสูตรเชื้อก่อโรคและทดสอบความไวของเชื้อต่อยาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถชันสูตรหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงได้อย่างถูกต้อง สามารถเลือกใช้ยาอย่างเหมาะสมในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ซึ่งทำให้ไม่มีการใช้ยาที่มีฤทธิ์ครอบคลุมกว้างโดยไม่จำเป็น
นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เชื้อโรคดื้อยาเป็นปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยสาเหตุของเชื้อดื้อยาเกิดจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม โดยเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยจะซื้อยาจากร้านขายยามากินเองโดยไม่ได้ปรึกษาเภสัชกร แล้วกินไม่ครบตามขนาดที่เหมาะสมในการรักษาโรค เมื่ออาการดีขึ้นก็คิดว่าหายป่วยแล้วจึงหยุดกินยาหรือใช้ยาที่ออกฤทธิ์กว้างเกินไป เข้าใจว่ากินยาแรงๆ แล้วหายเร็ว หรือเมื่อแพทย์สั่งยาให้แล้วไม่กินให้ครบขนาดตามที่แพทย์สั่ง ส่งผลให้เชื้อโรคดื้อยาอย่างรวดเร็ว ซึ่งประชาชนมีความเข้าใจที่ผิดๆ ว่ายาปฏิชีวนะสามารถทำลายเชื้อได้ทุกชนิด แต่ในความเป็นจริงยาปฏิชีวนะเป็นยาสำหรับต้านเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่ใช่ยาต้านไวรัสหรือเชื้อรา
จากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียมานานกว่า 10 ปี ของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า เชื้อแบคทีเรียหลายชนิดในประเทศไทย มีแนวโน้มดื้อยาเพิ่มขี้น ได้แก่ เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์ บอแมนนิอาย (Acinetobacter baumannii) ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในโรงพยาบาล พบมีการระบาดของเชื้อชนิดนี้และดื้อยาหลายชนิดพร้อมกัน สูงถึง 55% ได้แก่ ยากลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (aminoglycosides) เบตา-แลกแทม (beta-lactams) ควิโนโลน (quinolones) แม้แต่ยาที่เคยใช้รักษาได้ดีในอดีต เช่น ยากลุ่มคาบาพีเนมส์ (carbapenems) โดยในปี 2543 ดื้อยาอิมิพีเนม (imipenem) เพียง 1-2% แต่ในปี 2554 ดื้อยาเพิ่มขึ้นเป็น 64% โดยเฉพาะในผู้ป่วยใน ICU พบว่ามีการดื้อยาอิมิพีเนม สูงถึง 85%
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่ออีกว่า เชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนีย (Streptococcus pneumoniae) ที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี มีอัตราการดื้อยาเพนนิซิลิน และยาอิริโธมัยซิน มากกว่าเด็กในวัยอื่น (เชื้อที่ก่อโรคในผู้ป่วยอายุ 5 ปีลงมาและมากกว่า 5 ปี ดื้อยาเพนนิซิลิน 55% และ 39% ดื้อยาอิริโธมัยซิน 50% และ 31% ตามลำดับ) ส่วนเชื้ออีโคไล (E. coli) ที่ทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ และการติดเชื้อในช่องท้อง ดื้อยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ออกฤทธิ์กว้าง ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่หาซื้อได้ง่าย จึงทำให้มีการใช้เกินความจำเป็น อย่างมาก ทำให้เกิดการดื้อยาได้แก่ ดื้อยาแอมพิซิลินหรืออาม๊อกซีซิลินสูงถึง 80% และดื้อยาซิโพร ฟ็อกซาซิน 49% และเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ซึ่งเป็นเชื้อฉวยโอกาสทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจทางเดินปัสสาวะ และระบบไหลเวียนโลหิตซึ่งขณะนี้มีการดื้อยา หลายชนิดพร้อมกัน 13% และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ ล่าสุดยังพบว่ามีการอุบัติใหม่ของเชื้อก่อโรคในโรงพยาบาลที่ดื้อยาทุกขนานอีกด้วย ดังนั้นหากไม่มีการควบคุมการใช้ยาโดยไม่จำเป็น หรือไม่มีการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด ลูกหลานในอนาคตอาจจะไม่มียาปฎิชีวนะ ที่สามารถใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียได้อีกต่อไป
นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์เชื้อดื้อยาดังกล่าวได้สะท้อนถึงปัญหาเชื้อดื้อยาของประเทศไทยที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนในที่สุดอาจจะไม่สามารถพัฒนายาใหม่ที่รักษาได้ผลและไม่ทันที่จะควบคุมเชื้อดื้อยา ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ดังนั้นความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อควบคุมการใช้ยาทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมจึงเป็นมาตรการหนึ่งในการชะลอเชื้อดื้อยา การควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาโดยเฉพาะในโรงพยาบาลก็เป็นมาตรการในการลดการแพร่เชื้อดื้อยาสู่ผู้ป่วยอื่น บุคลากรทางการแพทย์ ชุมชน สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การเฝ้าระวังเชื้อ ดื้อยาและการเฝ้าระวังการใช้ยามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูลสถานการณ์เชื้อดื้อยาและพฤติกรรมการใช้ยา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมเชื้อดื้อยาและสามารถเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินการควบคุมเชื้อดื้อยาด้วย
นอกจากนี้ การพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการชันสูตรเชื้อก่อโรคและทดสอบความไวของเชื้อต่อยาเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานอันดับแรก เพราะหากห้องปฏิบัติการมีคุณภาพสามารถชันสูตรหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงได้อย่างถูกต้อง พร้อมผลความไวของเชื้อต่อยาทำให้สามารถเลือกใช้ยาอย่างเหมาะสมในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ก็จะทำให้ไม่ต้องมีการใช้ยาที่มีฤทธิ์ครอบคลุมกว้าง (broad spectrum antibiotics) โดยไม่จำเป็น และการจัดทำแบบแผนความไวของเชื้อก่อโรคต่อยาต้านจุลชีพ (Antibiogram) ที่มีคุณภาพจะช่วยให้แพทย์ในสถานพยาบาลนั้นๆ มั่นใจที่จะใช้เป็นแนวทางในการเลือกใช้ยาอย่างเหมาะสมในรักษาเป็นการเบื้องต้นก่อนการเพาะหาเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคได้ (empirical treatment)