xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.ของบก่อสร้างเพิ่ม 5,000 ล้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศธ.ขอแปรญัตติของบก่อสร้างเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท จากเดิมที่ขอไป 7,930 ล้านบาท เพื่อใช้แก้ปัญหาภัยพิบัติ วางแผนปรับการสร้างอาคารเรียนใหม่ให้เป็นแบบยกสูงทั้งหมด พร้อมสั่งพื้นที่เขตการศึกาาทั่วประเทศซ้อมรับมือภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง

นายรังสรรค์ มณีเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัดทางภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา สพฐ.ได้ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สำรวจความเสียหายแล้ว โดยในเบื้องต้นโรงเรียนในพื้นที่น้ำท่วมยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทางผ่านของน้ำ เมื่อฝนตกมากๆ เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้น้ำไม่ท่วมขังนาน ซึ่งปัจจุบันถือว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทั้งนี้ จากเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้โรงเรียนต่างๆ ที่เคยประสบภัยมีประสบการณ์แล้ว เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนโรงเรียนก็มีการเตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมา โรงเรียนในสังกัด สพฐ.ได้รับความเสียหายจำนวน 2,457 โรงเรียน โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเป็นงบก่อสร้างแล้วจำนวน 1,762 ล้านบาท และเป็นงบสำหรับเอาไปซ่อมแซม และเป็นเงินอุดหนุนให้กับเด็กนักเรียนแบ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 1,811 แห่ง ใช้งบ 372 ล้านบาท โรงเรียนมัธยมจำนวน 188 แห่ง ใช้งบ 83 ล้านบาท รวมแล้วใช้งบประมาณในส่วนซ่อมแซมโรงเรียนและเงินอุดหนุน รวม 456 ล้านบาท ส่วนงบประมาณในปี 2556 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ของบประมาณปกติไว้แล้ว 5,000 ล้าน ซึ่งรวมไปถึงงบประสบภัยและเป็นงบซ่อมสร้างปกติ แต่ส่วนนี้ยังไม่สรุปตัวเลขที่แน่ชัด เพราะ ศธ.ขอแปรญัตติของบเพิ่มเติม

ตัวเลขงบประมาณของ ศธ.ในส่วนที่เป็นงบลงทุน ขณะนี้ขอไป 7,930 ล้านบาท ซึ่งในงบลงทุนที่ใช้เป็นงบสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ โดยแบ่งเป็นงบก่อสร้าง 5,000 ล้านบาท และงบครุภัณฑ์อีก 2,930 ล้านบาท แต่ขณะนี้ ศธ.ได้ขอแปรญัตติของบประมาณเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นงบก่อสร้าง รวมแล้วน่าจะได้งบ 10,000 ล้าน นอกจากนี้ งบประมาณส่วนอื่นๆ ที่ ศธ.ได้รับ เช่น งบด้านบุคลากรจำนวน 215 ล้านบาท งบดำเนินการ 25 ล้านบาท และงบอุดหนุนโรงเรียน 43 ล้านบาท” นายรังสรรค์ กล่าว

นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า ในส่วนงบประมาณก่อสร้างที่ขอเพิ่มนั้น ทาง สพฐ.ได้ดูตามความจำเป็นจากบทเรียนน้ำท่วมที่ผ่านมา เนื่องจากอาคารเรียนในแต่ละพื้นที่มีสภาพทรุดโทรม บางแห่งมีอาคารเรียนชั้นเดียว และเป็นอาคารไม้ เมื่อน้ำท่วมก็ได้รับความเสียหายมาก จึงจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างอาคารที่แข็งแรงเพิ่มเติม และจากบทเรียนน้ำท่วม สพฐ.ยังได้ปรับรูปแบบของแบบแปลนในการสร้างอาคารใหม่ทั้งหมดให้เป็นแบบยกสูง พื้นที่ชั้นล่างเปิดโล่ง หากโรงเรียนใดที่ของบมาเพื่อใช้ก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมจะต้องใช้แบบแปลนที่ สพฐ.กำหนดไว้ให้ ส่วนโรงเรียนที่เสียหายไม่มากและไม่ได้ก่อสร้างใหม่ ก็จะเป็นลักษณะของการดีดตัวอาคารให้สูงขึ้น

“ปีนี้โรงเรียนต่างๆ ค่อนข้างมีการเตรียมพร้อมพอสมควร เพราะมีประสบการณ์แล้วจากปีที่ผ่านมา นอกจากเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ เพื่อไม่ให้ข้าวของเสียหายเพียงอย่างเดียว ในปีนี้ สพฐ.ได้นำเรื่องของภัยพิบัติต่างๆใส่ไว้ในหลักสูตร เช่นเรื่องของการป้องกัน เมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยจัดทำชุดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนสามารถนำกลับไปเรียนรู้เองที่บ้านได้ในกรณีที่ประสบภัย หรือหากยังไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติได้ และถ้าไม่สามารถดำเนินการตามแผนนี้ได้ ก็ต้องมีแผนรองรับ เช่น จัดชั่วโมงเรียนชดเชย กรณีกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียนของเด็ก” นายรังสรรค์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้มอบหมายให้เขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมดทั่วประเทศ เตรียมฝึกซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยให้ทุกโรงเรียนติดตามรับฟังข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา และฟังประกาศเตือนภัยจากกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมเป็นประจำก็ให้เตรียมพร้อมเก็บสิ่งของจำเป็นไว้ชั้น 2 และหากพื้นที่ไหนประสบภัยในลักษณะใด ก็ต้องหาทางป้องกันไว้ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น