“สุชาติ” สั่งตั้ง คกก.สอบสวนแปะเจี๊ยะโรงเรียนบดินทรฯ ก่อนลุกหนีสื่อ โยน “ชินภัทร” ชี้แจงว่า นร.ไม่ได้สิทธิ์เข้าเรียนต่อ ม.4 ทั้งหมด หากถูกลิดรอนสิทธิ์จริง จะรับกลับเข้าเรียนต่อ แต่หากไม่มีสิทธิ์จะช่วยหาโรงเรียนใหม่ให้ รับปากสร้าง ร.ร.บดินทรฯ ในพื้นที่เพิ่มอีก เพื่อรองรับความต้องการ ด้านผู้ปกครองเดือด ไม่พอใจการแก้ปัญหาของ ศธ.ส่วน นร.บดินทรฯ โชว์ข้อความในมือถือ เพื่อนแจ้งข่าวว่า มีครูใน ร.ร.ปลุกม็อบต้านกลุ่มผู้ประท้วง
วันนี้ (22 พ.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าเวลาประมาณ 08.30 น.ทาง ศธ.ได้จัดอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการให้แก่ผู้ปกครอง และนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รับประทานก่อนร่วมรับฟังการแถลงข่าวจาก ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามกำหนดเวลา 09.00 น.ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีเครือข่ายผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนบดินทรฯ เรียกร้องให้แก้ไขปัญหานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เดิมไม่ได้สิทธิ์เรียนต่อชั้น ม.4 โรงเรียนเดิม และขอให้ตรวจสอบ เพราะมีข้อมูลว่าโรงเรียนมีการรับแปะเจี๊ยะด้วย นอกจากนี้ ยังมีศิษย์เก่าของโรงเรียนบดินทรฯ รวมถึงสื่อมวลชนจากหลายสำนักให้ความสนใจมาร่วมสังเกตการณ์ จำนวนกว่า 80 คน
ต่อมาในเวลา 09.30 น.ศ.ดร.สุชาติ พร้อมด้วย นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวด้วย
ศ.ดร.สุชาติ กล่าวระหว่างแถลงข่าวว่า เบื้องต้นโดยเสนอทางออกโดยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 2 ชุด โดยชุดแรก จะทำหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงผู้บริหารโรงเรียน กรณีที่ถูกกล่าวหาว่า รับเงินแปะเจี๊ยะ เพื่อรับเด็กนักเรียนภายนอกเข้ามาเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปลาย ส่วนการให้ผู้บริหารโรงเรียนพักราชการก่อนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการ ส่วนคณะกรรมการชุดที่ 2 จะทำหน้าที่เยียวยาในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา โดยหากผู้ปกครองรายใดที่เห็นว่าบุตรหลานไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถเข้าไปร้องขอความเป็นธรรมได้ ทั้งนี้ ทางกระทรวงจะให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย และจะนำเรื่องนี้เข้าไปพิจารณาในสภาด้วย ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว จะให้ขยายพื้นที่โรงเรียนดังให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ต้องการเรียนมากขึ้น
“กรณีโรงเรียนบดินทรฯได้ฝากให้ สพฐ.ไปดูด้วยว่าโรงเรียนรับนักเรียนในโควตาเงื่อนไขพิเศษถูกต้องหรือไม่ มีรับเพิ่มเติมนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ และให้ สพฐ.พิจารณาด้วยว่าการย้ายให้ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ถูกกล่าวหาออกมาจากพื้นที่ก่อน เพื่อไม่ให้นั่งทับปัญหามีความจำเป็นหรือไม่” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ศ.ดร.สุชาติ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การรับนักเรียนในปีนี้ปฏิบัติตามระเบียบการรับนักเรียนที่มีก่อนที่ตนมาเป็น รมว.ศึกษาธิการ เป็นระเบียบที่เกิดเมื่อสมัย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็น รมว.ศึกษาธิการ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบดังกล่าวให้แตกต่างออกไป โดยส่วนตัวตนมีคำถามเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในบางเรื่อง เพราะดูแล้วไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ที่ไปสร้างข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งตนตั้งใจที่จะแก้ไขเหมาะสมเร็วที่สุด ที่สำคัญ ห้ามมีการใช้เงินแลกเรียนเป็นอันขาด โดยเฉพาะเงื่อนไขพิเศษจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนโปร่งใสเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้เงินซื้อที่เรียนในโควตานี้ ขณะเดียวกัน เพื่อตอบสนองความนิยมของโรงเรียนดังที่มีอย่างมากน่าจะให้โรงเรียนดังมีการขยายตัว เพื่อเพิ่มที่นั่งรับนักเรียนได้มากขึ้น เปรียบเทียบเหมือนร้านอาหารไหนที่มีคนอยากกินเยอะ ก็ต้องขยายร้านให้ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่ลดขนาดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าว นายสุชาติ ก็ลุกออกจากโต๊ะแถลงข่าวออกไปทันที โดยไม่ตอบคำถามผู้สื่อข่าว โดยอ้างว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องของข้าราชการประจำ โดยได้มอบหมายให้ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นผู้ชี้แจง
ทั้งนี้ นายชินภัทร กล่าวว่า สพฐ.พยายามให้ได้ข้อยุติโดยมี 2 สิ่งที่ต้องยึดพร้อมกัน คือ นักเรียนมีที่เรียน ขณะเดียวกัน ก็ต้องรักษากติกาไว้ ทั้งนี้ สพฐ.จะตั้งกรรมการเยียวยาขึ้นมาประจำเขตพื้นที่ และให้นักเรียนที่มีความเดือดร้อนไปแจ้งข้อมูลกับกรรมการฯดังกล่าว ซึ่งกรรมการพยายามเยียวยาให้นักเรียนได้ที่เรียนดีที่สุด และใกล้บ้านที่สุด กรณีของโรงเรียนบดินทรฯก็เช่นกัน ให้ไปแจ้งข้อมูลกับกรรมการ ใครที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกลิดรอนสิทธิ์อย่างไร ก็ให้แจ้งข้อมูลอธิบายไว้ จากนั้นกรรมการจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป หากนักเรียนคนไหนถูกลิดรอนสิทธิ์จริง จะให้โรงเรียนรับกลับเข้าโรงเรียนเดิม แต่ถ้านักเรียนไม่มีสิทธิ์ก็จะเยียวยาด้วยวิธีอื่นๆ จัดหาที่เรียนในโรงเรียนอื่นๆ ให้ โดยจะมีการตั้งกรรมการ และเริ่มปฏิบัติหน้าที่ทันทีในบ่ายวันนี้ (22 พ.ค.)
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว สพฐ.รับประกันว่า จะมีการพัฒนาโรงเรียนคู่พัฒนาอย่างจริงจัง ผู้บริหารและครูทั้ง 2 โรงเรียน จะร่วมงานเป็นเนื้อเดียวกัน ต่อไปโรงเรียนคู่พัฒนาแห่งนั้น ก็จะกลายเป็นโรงเรียนดังอีกแห่ง ขณะเดียวกัน ถ้าในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (สพม.) กทม. เขต 2 ยังมีความต้องการในโรงเรียนบดินทรฯ สูงอาจจะพิจารณาตั้งโรงเรียนบดินทรฯ อีกแห่งใน สพม.กทม.เขต 2
“ผู้ปกครองนักเรียนบดินทรฯ ต้องทำตามระบบไปยื่นเรื่องที่กรรมการ ซึ่งจะพยายามแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด และขอความร่วมมือให้ผู้ปกครองยอมรับมาตรการนี้ ไม่ใช่ยืนยันแต่ว่าจะอยู่ที่โรงเรียนเดิม จริงอยู่ว่า รมว.ศึกษาธิการ ไม่เห็นด้วยกับระเบียบการรับนักเรียนที่ใช้อยู่ และจะมีการแก้ไขระเบียบการรับนักเรียนในอนาคต และนโยบายเปิดเสรีการรับนักเรียนของโรงเรียนดังมากขึ้น แต่ตอนนี้กฎเกณฑ์การรับนักเรียนเดิมที่มีผลตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2554 ยังมีการใช้อยู่เราจะไปฉีกทิ้งไม่ได้ แต่ก็จะพยายามเยียวยาให้ดีที่สุดไม่ทอดทิ้งเด็กแต่ไม่ใช่ว่าผู้ปกครองและนักเรียนจะมาให้ทางเลือกกับ สพฐ.เพียงทางเลือกเดียวผู้ปกครองควรจะกลับไปคิดว่า หากรับนักเรียนทุกคนกลับเข้าโรงเรียนเดิมหมดห้องเรียนจะต้องแออัดมากถึง 60 คนสภาพแบบนั้นคงเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ อีกทั้งการฉีกกติกาจะมีผลต่อสังคมด้วย เพราะ สพม.มี 42 เขต โรงเรียนกว่า 2,000 แห่ง หากจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยวิธีการเอาใจผู้ปกครอง จะทำให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ปะทุมาอีก” นายชินภัทร กล่าว
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวด้วยว่า หากผู้ปกครองยังยืนยันจะเรียนที่เดิม ท้ายที่สุดต้องให้ผู้มีอำนาจเหนือ สพฐ.เป็นผู้ตัดสินใจและบอกแก่ สพฐ.ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องขยายเพิ่มโดยดูแล้วว่าโรงเรียนบดินทรฯ สามารถรักษาคุณภาพได้ รักษามาตรฐาน มีอาคารเรียนรองรับ และมีอัตราครูเพียงพอ ซึ่งหากมีการสั่งการมาเช่นนี้ สพฐ.ก็จะปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม ส่วนการพิจารณาว่า ต้องย้าย ดร.สุวัฒน์ วิวัฒนานนท์ ผอ.โรงเรียนบดินทรฯ ออกจากโรงเรียนเป็นการชั่วคราวหรือไม่นั้น คงไม่จำเป็นต้องย้าย เพราะต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงออกมาเสียก่อน
นายชินภัทร กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้มอบให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.ทำหนังสือเวียนแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา (สพม.) ทั้ง 42 เขตทั่วประเทศ เพื่อให้ สพม.ที่มีปัญหาเรื่องการรับนักเรียน ได้เสนอองค์ประกอบของคณะกรรมการเยียวยานักเรียนจากการรับนักเรียนเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ประจำปีการศึกษา 2555 มายัง สพฐ.โดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะดำเนินการแต่งตั้งและดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ องค์ประกอบดังกล่าว ประกอบด้วย 1.ผู้อำนวยการ สพม.เป็นประธาน 2.รองผู้อำนวยการ สพม./ผู้อำนวยการกลุ่มที่รับผิดชอบเรื่องการรับนักเรียน เป็นกรรมการและเลขานุการ 3.นิติกรประจำ สพม.เป็นผู้ช่วยเลขานุการ 4.ประธานกลุ่มโรงเรียน/สหวิทยาเขต 5.ตัวแทนประธานคณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงในเขตพื้นที่ 6.ผู้แทนผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา 7.ตัวแทนสมาคมครูและผู้ปกครอง และ 8.ตัวแทนเครือข่ายผู้ปกครองชั้น ม.3
สำหรับบรรยากาศในห้องประชุม ผู้ปกครองและนักเรียนบดินทรฯ เกิดความตึงเครียด โดยผู้ปกครองต่างผิดหวัง ไม่พอใจการตัดสินปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการ และเขียนเอกสารทิ้งไว้ว่า ถูกลิดรอนสิทธิ์เข้าเรียนโรงเรียนเดิม และภายหลังการแถลงข่าว นักเรียนคนหนึ่งได้โชว์ข้อความที่พูดคุยกับเพื่อนผ่านวอตช์สแอป โดยข้อความดังกล่าว ระบุว่า พ่อแม่ได้รับการติดต่อจากครูให้มารวมตัวที่โรงเรียนในวันพรุ่งนี้ เพื่อให้ออกมาต่อต้านกลุ่มที่ออกมาประท้วงเข้าเรียนด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายของวันนี้ คณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียนบดินทรฯ จะเรียกนักเรียนที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด และมีสิทธิ์ให้เข้ารายงานตัวเพื่อเข้าเรียน ม.4 เนื่องจากมีที่นั่งว่าง 20 ที่นั่ง เนื่องจากมีผู้สละสิทธิ์
ต่อมา เวลาประมาณ 15.30 น. เครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนบดินทรเดชา (สิง สิงหเสนี) นำโดยนายพล.ต.สมพงษ์ ทองวีระประเสริฐ ประธานเครือข่าย พร้อมดัวยผู้ปกครองและนักเรียนประมาณ 30 คน ได้เดินทางมาพบ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อยื่นหนังสือสนับสนุนแนวทางการรับนักเรียนประจำปีการศึกษา 2555 ตามประกาศศธ.
พล.ต.สมพงษ์ กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งแอบอ้างใช้ชื่อเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนบดินทรเดชาฯ ในการเคลื่อนไหว และกล่าวหาว่ามีการเรียกรับเงินเพื่อแลกที่นั่งเรียน ดังนั้นตนในฐานะประธานเครือข่ายฯ จึงรวมตัวกับผู้ปกครองและนักเรียนจำนวนหนึ่งซึ่งมีทั้งเด็กที่สามารถสอบเข้าเรียนในโรงเรียนบดินทรเดชาฯ ได้และสอบไม่ได้ ยื่นหนังสือถึงนายสุชาติ เพื่อยืนยันว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวทางเครือข่ายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย และสนับสนุนกติกาการรับนักเรียนของสพฐ.ในปีนี้ เพราะได้แจ้งล่วงหน้าให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติตาม รวมถึงเชื่อมั่นในการทำงานของนายสุวัฒน์ วิวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนว่ามีความโปร่งใส