ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก เครือข่ายรักลูกปลอดภัยเมื่อใช้ถนน วอนรัฐบาล หยุดละเลยสิทธิและความปลอดภัยในเด็ก เหตุอัตราการตายเด็กพุ่งสูงทุกปี แนะออกกฎหมายบังคับใช้เข็มขัดนิรภัย-ที่นั่งคาร์ซีตในเด็ก
วันนี้ (2 พ.ค.) ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ร่วมกับเครือข่ายรักลูกปลอดภัยเมื่อใช้ถนน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว สสส.เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์เหตุการตายในเด็กที่โดยสารรถยนต์ในช่วงเทศการสงกรานต์ปี 2555 และตลอดปี 2554 ว่า อนุกรรมการพิเคราะห์เหตุการณ์ตายในเด็ก ในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ทำการวิเคราะห์การตายของเด็กจากการโดยสารรถยนต์ทุกประเภท ผลการศึกษา พบว่า มีเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ตายจากการโดยสารรถยนต์ทุกประเภทปีละ 126 ราย และบาดเจ็บรุนแรงปีละ 1,827 ราย และในปี 2555 พบการตายของเด็กจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศการสงกรานต์สูงถึง 46% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงและประเด็นปัญหาสำคัญเด็กที่ตายทั้งหมด 100% เกิดจากไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย หรือใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็ก (คาร์ซีต) ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการตายที่สำคัญ
“การละเลยหรือจงใจต่อการละเมิดสิทธิความปลอดภัยในเด็ก และละเลยต่อหน้าที่การปกป้องคุ้มครองเด็ก โดยเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ผลิตรถยนต์ เนื่องจากการรณรงค์การใช้เข็มขัดนิรภัย การติดตั้งเข็มขัดนิรภัยมาพร้อมรถยนต์ การจับกุมดำเนินการตามมาตรา 123 เรื่องการใช้เข็มขัดนิรภัยได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังในสังคมไทย หากแต่ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงความพยายามคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้ใหญ่เท่านั้น มิได้ส่งผลต่อความปลอดภัยของเด็กในการโดยสารรถยนต์แต่อย่างใด” นพ. อดิศักดิ์ กล่าว
นพ.อดิศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า การรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนที่ผ่านมา มีผลคับใช้กับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังคงมีการละเลยต่อการคุ้มครองปกป้องเด็กอย่างจริงจัง ดังนั้น ข้อมูลจากผลการศึกษาที่ค้นพบ บอกได้ชัดเจนว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเอาจริงกับแนวทางป้องกันที่ดีให้แก่เด็ก ในประเด็นข้อเสนอที่สำคัญๆ ดังนี้ 1.ควรมีการผลักดัน พ.ร.บ.จราจรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 123 ให้ครอบคลุมความปลอดภัยในเด็ก 2.ควรมีการรณรงค์การใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเดินทางครั้งแรกของเด็กที่ออกจากโรงพยาบาล และการเดินทางของเด็กอนุบาลหรือเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย 3.รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ใช้ที่นั่งนิรภัยโดยการลดภาษีนำเข้าเพื่อให้มีราคาที่ถูกลง เพิ่มโอกาสในการตัดสินใจของผู้ใช้ 4.บริษัทรถยนต์ต่างๆ ต้องรับผิดชอบต่อการคุ้มครองผู้บริโภคเด็ก ด้วยการประชาสัมพันธ์โฆษณาผ่านช่องทางสื่อ เพื่อให้สังคมเห็นความสำคัญของการใช้ที่นั่งนิรภัย หรือมีโปรโมชันแก่ผู้ซื้อ เช่น การแถมที่นั่งนิรภัย เป็นต้น โดยข้อเสนอดังกล่าวนี้ ตนจะขอความเห็นชอบจากผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เพื่อทำหนังสือถึงหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงต่อมนุษย์ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ ร่วมรับผิดชอบและดำเนินการต่อไป