“วิทยา” เปิดงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.เทศบาล เสริมศักยภาพท้องถิ่น สร้างสุขภาพชุมชนให้ยั่งยืน พร้อมมอบรางวัล อบต.และเทศบาลที่มีผลงานส่งเสริมสุขภาพชุมชนดีเด่น พร้อมทั้งปาฐกถาพิเศษบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนให้ยั่งยืน ชี้ อบต.เทศบาลเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพของรัฐบาล ฝาก 6 ข้อ ให้ท้องถิ่นช่วยดูแล ทั้งการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การควบคุมป้องกันโรคที่พบบ่อย เช่น ไข้เลือดออก มีระบบดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ลดสุรา-บุหรี่
วันนี้ (27 เม.ย.) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานมหกรรมกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.และเทศบาล) “เสริมศักยภาพท้องถิ่น สร้างสุขภาพชุมชนให้ยั่งยืน” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานของแต่ละกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.เทศบาล ค้นหา และนำเสนอนวัตกรรมที่มีผลงานดีเด่น รวมถึงประสานความร่วมมือการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิ การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 8,000 คน พร้อมทั้งมอบโล่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.เทศบาลที่มีผลงานดีเด่น และปาฐกถาพิเศษ “บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนให้ยั่งยืน”
ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมดูแลสุขภาพในพื้นที่ครั้งนี้ มีทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และ สปสช.ที่ได้ร่วมกันดำเนินงานให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.และเทศบาลขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันครอบคลุมร้อยละ 99 ทั่วประเทศ หรือประมาณ 7,700 แห่ง ดำเนินการด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนกว่า 57 ล้านคน และมีผลการดำเนินงาน และกิจกรรมที่เป็นนวัตกรรมสุขภาพชุมชนสามารถเป็นตัวอย่างให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพื้นที่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
“เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นจุดยุทธศาสตร์ของการพัฒนา และเป็นจุดคานงัดที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไทย ขณะที่นโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลชี้ชัดว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ สะดวกรวดเร็ว และเป็นธรรม รวมทั้งจัดให้มีมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพที่นำไปสู่การเจ็บป่วยเรื้อรัง นโยบายของรัฐบาลด้านสาธารณสุขนี้ จะสำเร็จได้ด้วยการร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอาสาสมัครสาธารณสุข โดยมีกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.และเทศบาล เป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาที่สำคัญ” นายวิทยา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพของประชาชนจะต้องฝากให้ อบต.และเทศบาลทุกแห่งใช้กลไกของกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.เทศบาล โดยเน้นการดำเนินการต่อไปนี้ 1.สำรวจและช่วยเหลือผู้ที่ถูกทอดทิ้งทุกคนในชุมชน เช่น คนแก่ คนพิการไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู ต้องอดมื้อกินมื้อ หรือเด็กๆ ที่ถูกทอดทิ้งอยู่ตามลำพัง ประการที่ 2.ให้มีการดูแลรักษาโรคง่ายๆ ในชุมชน โดยการสนับสนุนให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง ดูแลคนในครอบครัวหรือในชุมชน โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล หากทำได้จะช่วยให้โรงพยาบาลลดภาระลง และมีเวลาดูแลผู้ป่วยหนักที่ซับซ้อนอื่นๆ ได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น และ 3.เร่งดำเนินการตรวจคัดกรองคนเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงในประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ทุกคน ประการที่ 4.มีระบบดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังได้ที่บ้าน ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เป็นอัมพาต ปวดข้อ หายใจไม่สะดวก ถ้ามีพยาบาล หรือหมอประจำครอบครัวไปเยี่ยมถึงบ้าน ดูแล และแนะนำจะมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างทันตาเห็น ประการที่ 5.ควบคุมโรคที่พบบ่อย เช่น ไข้เลือดออก ชุมชนเข้มแข็งจะสามารถป้องกันไข้เลือดออกได้ และควบคุมโรคอื่นๆ อีก เช่น ไข้หวัดนก ติดยาเสพติด เป็นต้น และสุดท้าย ต้องให้ชุมชนเข้มแข็งจะสร้างเสริมสุขภาพด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ขจัดความยากจน สร้างเศรษฐกิจพอเพียง อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์วัฒนธรรม และสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพ เช่น ออกกำลัง ไม่สูบบุหรี่ ควบคุมการดื่มเหล้า มีโภชนาการที่ดี เป็นต้น
รายงานข่าวเปิดเผยว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.เทศบาลทั้ง 36 แห่งที่ได้รับรางวัล ดังนี้ เขต 1 เชียงใหม่ ได้แก่ เทศบาลตำบลศรีสะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน, เทศบาลตำบลวังชิ้น อ.วังชิ้น จ.แพร่, องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เขต 2 พิษณุโลก ได้แก่ เทศบาลตำบลนางั่ว อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์, องค์การบริหารส่วนตำบลคลองยาง อ.สวรรคโลก จ. สุโขทัย, เทศบาลตำบลไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เขต 3 นครสวรรค์ ได้แก่ เทศบาลตำบลบางไผ่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร, เทศบาลตำบลวังตะเคียน อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท, องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหลวง อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร
เขต 4 สระบุรี ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล คูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี, องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี, เทศบาลตำบลบางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เขต 5 ราชบุรี ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรี, องค์การบริหารส่วนตำบลเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม, เทศบาลตำบลหนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เขต 6 ระยอง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง, องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโสม อ.เขาสมิง จ.ตราด, เทศบาลเมืองหนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เขต 7 ขอนแก่น ได้แก่ เทศบาลตำบลดงสิงห์ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด, เทศบาลเมืองเมืองพล อ.พล จ.ขอนแก่น, เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
เขต 8 อุดรธานี ได้แก่ เทศบาลตำบลโนนสัง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู, องค์การบริหารส่วนตำบลชัยพฤกษ์ อ.เมือง จังหวัดเลย, เทศบาลเมืองหนองคาย อ.เมือง จ.หนองคาย เขต 9 นครราชสีมา ได้แก่ เทศบาลตำบลหนองบัวใหญ่ อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ, องค์การบริหารส่วนตำบลสะเดา อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์, องค์การบริหารส่วนตำบลด่านขุนทด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เขต 10 อุบลราชธานี ได้แก่ เทศบาลตำบลโพนทราย อ.เมือง จ.มุกดาหาร, เทศบาลตำบลเปือย อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ, เทศบาลตำบลโพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เขต 11 สุราษฎร์ธานี ได้แก่ เทศบาลนครภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต, เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี, เทศบาลเมืองชุมพร อ.เมือง จ.ชุมพร เขต 12 สงขลา ได้แก่ เทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, เทศบาลเมืองปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี, เทศบาลนครตรัง อ.เมือง จ.ตรัง