“ชินภัทร” รับแบ่งเขตพื้นที่ไม่คืบ เพราะติดปัญหาใหญ่ เรื่องการเกลี่ยคนทำงาน ยันเดินหน้าต่อ และอาจจะทำในบางพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อนเท่านั้น เล็งนำหารือ “สุชาติ” พร้อมขอความเห็นชอบในหลักการก่อนให้บอร์ดสภาการศึกษาฯ พิจารณา
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแบ่งเขตสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ว่า ก่อนหน้าได้มีการจัดทำข้อมูลและกำหนดเป้าหมายว่าจะขยายสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ให้มีจังหวัดละ 1 เขต และในส่วนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อาจจะขยายในบางเขตซึ่งมีขนาดใหญ่มีโรงเรียนในการดูแลจำนวนมากและมีระยะทางที่ไกลกัน อย่างไรก็ตาม ในหลักการยังไม่ได้ชะลอ หรือยุติเรื่องนี้เพียงแต่อุปสรรคด้านเดียวที่ยังประสบและยังไม่มีคำตอบ คือ เรื่องการบริหารงานบุคคล ซึ่งก่อนหน้านั้น ที่มีการแบ่งเขต สพม.และ สพป.รวมทั้งสิ้น 225 เขตจนกระทั่งเวลานี้ก็ยังประสบปัญหาเรื่องการเกลี่ยบุคลากรเพื่อปฏิบัติงานไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะขยายเพิ่มอีก 40-50 เขตนั้น ก็อาจจะประสบปัญหาในเรื่องดังกล่าวเช่นเดิม
“ถ้าเราจะเพิ่มเขตพื้นที่ก็ต้องสามารถทำงานได้ คือ มีคนทำงาน เพราะฉะนั้นทั้ง สพป.และ สพม.จะต้องไปคิดหาวิธีการว่าหากแบ่งเขตเพิ่มจะแก้ไขปัญหาเรื่องบุคลากรอย่างไร เพราะฉะนั้น ในทางนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดทางเรื่องการแบ่งเขตเพิ่มเติม ไม่ได้จะชะลอ หรือยุติแต่อย่างใด เพียงแต่อาจจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปทำในพื้นที่ที่มีความพร้อมและต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (สกศ.) เห็นชอบ แต่ที่สำคัญที่สุดจะต้องนำเรียนเพื่อ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อขอรับฟังนโยบายด้วย ความเห็นชอบและขอความเห็นชอบในหลักการก่อนด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต รมว.ศึกษาธิการ เคยให้ความเห็นชอบด้วย
อนึ่ง ก่อนหน้านั้น สพฐ.ได้จัดประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาเมื่อประมาณเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้น ว่า จำนวนเขตพื้นการศึกษาทั้งหมด จะมี 261 เขต แบ่งเป็น สพม.78 เขต จังหวัดละ 1 เขต ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ที่มี 2 เขตตามเดิม ส่วน สพป.มี 183 เขตตามเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งในเรื่องของกรอบอัตรากำลังคนนั้นได้มอบให้ สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ.ไปจัดทำกรอบอัตรากำลังตามขนาดของเขตพื้นที่การศึกษาใหม่