xs
xsm
sm
md
lg

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คร่าชีวิตทั่วโลกปีละ 1.7 แสนราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


24 เม.ย.องค์กรแพทย์ทั่วโลกรณรงค์วันเยื่อหุ้มสมองอักเสบโลก ชี้ คร่าชีวิตปีละกว่า 170,000 ราย แนะป้องกันในเด็กเล็กก่อนสาย “ตาย-พิการ” วอนพ่อแม่อย่ามองข้ามหูชั้นกลางอักเสบ อาจนำสู่โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้

สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย จัดเสวนา “แนวทางการเฝ้าระวังโรคเยื่อหุ้มสมองในเด็กไทย” เพื่อร่วมรณรงค์ให้คนไทยเกิดความตื่นตัวในการป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื่องในโอกาสวันเยื่อหุ้มสมองอักเสบโลก 24 เมษายน 2555 ชี้ คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละกว่า 170,000 ราย เป็นโรคร้ายแรงที่ไม่แสดงอาการในช่วงเริ่มแรก ทำให้เสี่ยงพิการและเสียชีวิตสูง ดังนั้น จึงเน้นการป้องกันเป็นหลักด้วยการฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง พร้อมเตือนพ่อแม่อย่าละเลยอาการคัน และเจ็บหูของลูกน้อย เพราะอาจจะเป็นอาการเริ่มต้นของโรคหูชั้นกลางอักเสบ หากเป็นรุนแรงอาจหูหนวก ส่งผลให้พัฒนาการของลูกน้อยชะงักและผิดปกติ นอกจากนี้ เชื้อร้ายอาจแพร่กระจายสู่สมองและเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากอุบัติการณ์ของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบทั่วโลก พบว่า ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตถึง 170,000 ราย แม้อุบัติการณ์ของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ แต่ความรุนแรงของโรคมีสูงมาก และส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และครอบครัวได้มากมายมหาศาล เพราะนอกจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตแล้ว ผู้รอดชีวิตจากโรคนี้ จะได้รับผลกระทบและทุพพลภาพในระยะยาว เช่น สมองถูกทำลาย หูหนวก หรืออาจจะสูญเสียความสามารถในการใช้แขนขา เป็นต้น ซึ่งโรคร้ายดังกล่าวสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ได้แก่ ทารก เด็กเล็ก และ วัยรุ่น โดยจะไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะแรก จะมีแต่เพียงอาการทั่วๆ ไป ซึ่งคล้ายกับโรคไข้หวัด เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ก้มคอลำบาก คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ตาไวต่อแสง เซื่องซึม แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น

“เนื่องจากอาการทั่วๆ ไปของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มักคล้ายกับอาการไข้หวัด ซึ่งคนไทยเราเป็นกันบ่อยๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ทำให้คุณพ่อคุณแม่มองข้าม จนบางครั้งเกิดอันตรายเกินแก้ไขได้ทันเวลา ซึ่งอาการดังที่กล่าวมา ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกคน และไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ หากเข้าข่ายสงสัยควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย”

จากความร้ายแรงของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบดังกล่าวข้างต้น “สมาพันธ์ป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ” (CoMO - The Confederation of Meningitis Organizations) ได้กำหนดให้วันที่ 24 เมษายน 2555 เป็นวันเยื่อหุ้มสมองอักเสบโลก (World Meningitis Day) ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรสมาชิกกว่า 34 องค์กร จาก 22 ประเทศ เพื่อผนึกกำลังรณรงค์ให้เกิดการเรียนรู้เพื่อสู้กับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้าง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการคิดค้นพัฒนาวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบแล้ว

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาจจะเกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และ หนอนพยาธิ เป็นต้น โดยเชื้อโรคจะเข้าไปทำลายเซลล์สมอง ทำให้ไม่สามารถสั่งการและควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้ ซึ่งการดำเนินของโรคจะเร็วมากเพียง 2-3 วัน และจะยิ่งรุนแรงหากเกิดกับทารกและเด็กเล็ก เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่ และอาการแสดงมักไม่ชัดเจน ดังนั้น จึงควรป้องกันไว้ก่อนที่จะเกิดโรคดีที่สุด

“แม้ว่าโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะเป็นโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรง แต่พ่อแม่สามารถป้องกันลูกน้อยจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ โดยให้ทารกกินนมแม่ รับประทานอาหารหลักครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างพอเพียง รวมทั้งรักษาสุขอนามัยเป็นประจำสม่ำเสมอ ด้วยการล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งปิดปากปิดจมูกเมื่อไอ หรือจาม ที่สำคัญ ในปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคปอดบวม ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อรุนแรงในเด็กเล็กที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอได้แล้ว แต่หากต้องการป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างต้องอาศัยความร่วมมือแบบ 360 องศา ระหว่างกุมารแพทย์ พ่อแม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐในการช่วยสนับสนุนและร่วมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง” ศ.พญ.อุษา ทิสยากร กล่าว

พญ.ภาวินี อินทกรณ์ กุมารแพทย์ด้านโสต ศอ นาสิก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า นอกจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะเป็นโรคร้ายแรงที่พวกเราทุกคนต้องเร่งป้องกันแล้ว ก็ยังมีโรคหูชั้นกลางอักเสบอีกโรคที่เป็นภัยเงียบที่คุกคามเด็กไทยอยู่ในปัจจุบันที่พ่อแม่มักมองข้ามไป และเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่มีโอกาสนำไปสู่โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมองได้ เนื่องจากหูอยู่บริเวณฐานสมอง และมีท่อยูสเตเชี่ยนเชื่อมถึงกัน และท่อนี้มีความลาดเอียงมากในเด็กเล็ก รวมทั้งมีช่องทางเชื่อมถึงกันหมดจนถึงปอด ดังนั้น เมื่อลูกน้อยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ จึงมีโอกาสที่เชื้อจะแพร่ไปก่อโรคยังฐานสมองและอวัยวะอื่นๆ ที่ต่อเชื่อมถึงกัน ทำให้เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นฝีในสมอง โรคติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคปอดอักเสบ หรือปวดบวมได้ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นโอกาสที่เด็กจะกลับมาแข็งแรงและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์คงเป็นเรื่องยาก

จากสถิติพบว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปีมากถึงร้อยละ 80 มีโอกาสเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ ซึ่งพบได้ในโพรงจมูกและลำคอของคนเรา แต่มักจะไม่ก่อ โรค แต่หากร่างกายอ่อนแอ หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อร้ายก็จะก่อให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงต่างๆ ได้ พ่อแม่จึงควรสังเกตลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ว่า ลูกมีไข้สูง ร้องกวน งอแง นอกจากนี้ เด็กเล็กอาจจะใช้มือจับหูข้างที่ปวดหรือไม่ ซึ่งหากพ่อแม่ละเลยและไม่สนใจอาการดังกล่าว โรคหูชั้นกลางอักเสบอาจจะทวีความรุนแรงขึ้น จนทำให้เกิดแก้วหูแดงบวม และอักเสบมีน้ำและหนองคั่งในเยื่อแก้วหู รวมทั้งเยื่อแก้วหูฉีกขาด จนเกิดภาวะหูน้ำหนวก เป็นต้น ดังนั้น หากพ่อแม่พบอาการข้างต้นให้รีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุโดยด่วน

พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และ กรรมการและเลขาธิการชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า โรคหูชั้นกลางอักเสบ หากละเลยลูกน้อยจนลุกลามจนเป็นหูน้ำหนวก จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการและพฤติกรรมของลูกน้อยในระยะยาว โดยเด็กจะอยู่ในภาวะความบกพร่องทางการได้ยิน ซื่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญมากของพัฒนาการและพฤติกรรมที่สมบูรณ์ของลูกน้อย การเรียนรู้ภาษาและเสียงต่างๆ รอบตัวจะหยุดชะงัก หรือล่าช้า และจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้วยการพูดและการออกเสียง โดยเด็กจะแสดงออกด้วยภาษากายเป็นหลัก เพราะเมื่อประสาทด้านการได้ยินบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถเข้าใจความแตกต่างของเสียงแต่ละแบบได้ และไม่สามารถเลียนเสียงต่างๆ และเปล่งเสียงออกมาเป็นคำพูดได้

วิธีการสังเกตว่าเด็กมีพัฒนาการทางการได้ยินบกพร่อง เช่น เด็ก จะมีพฤติกรรมไม่ค่อยใช้การสื่อสารด้วยการพูด มักใช้การแสดงท่าทางแทน ไม่สนองตอบเมื่อเรียก พูดไม่ชัด เสียงที่เปล่งออกดังมาผิดปกติ ไวต่อการสั่นสะเทือนหรือการเคลื่อนไหวรอบตัว ซนและไม่มีสมาธิ ขาดความมั่นใจ อาจจะมีปัญหาทางด้านอารมณ์และการเข้าสังคม เป็นต้น เนื่องจากการอยู่ร่วมกันในสังคมจะใช้การสื่อสารด้วยภาษาเป็นหลัก ดังนั้นเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินจะต้องปรับตัวและพฤติกรรมมากมายเพื่อใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

นอกจากนี้ พญ.อดิศร์สุดา ยังกล่าวด้วยว่า มองเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ควบคุมการปฏิบัติการของพัฒนาการและพฤติกรรมในเด็ก โดยเฉพาะเด็กในช่วงอายุ 0-5 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงปฐมวัยและเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก ซึ่งมีปัจจัยหลายปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการส่งเสริมพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรงของลูกน้อย ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ คือ สุขภาพที่ดีของลูกน้อย จะส่งผลต่อพัฒนาการที่สมบูรณ์พร้อมในช่วงปฐมวัย และเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ ความสำเร็จในการเรียนในระยะยาว ดังนั้น การดูแลสุขภาพลูกน้อยให้มีสุขภาพดีทำให้อวัยวะทุกส่วนมีความเข็งแรง สมองพัฒนาการได้อย่างเต็มที่จึงมีความสำคัญมาก โดยพ่อแม่สามารถทำได้ทั้งด้านการส่งเสริม และด้านการป้องกัน ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการที่สมบูรณ์ดังกล่าวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น