เตือนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ใช้แป้งดินสอพองต้องระวัง หากมีการปนเปื้อนเชื้อโรค โดนแผล สิว เสี่ยงอักเสบ เน่า เข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ เผย สุ่มเก็บตัวอย่างดินสอพองในท้องตลาด 23 ตัวอย่าง ไม่ผ่านเกณฑ์ 100%
นายแพทย์ สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คนไทยนิยมใช้ดินสอพองกันมานาน โดยใช้ผสมกับน้ำหรือเครื่องหอม เพื่อประพรมตามร่างกาย ในหน้าร้อน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในทางยาไทย พบว่า ดินสอพองแก้เม็ดผด ผื่นคัน ระงับเหงื่อ ดับพิษร้อน นอกจากไม่ทำให้ร่างกายเหนียวเหนอะจากอากาศร้อนแล้ว ยังทำให้ร่างกายเย็นสบาย แต่ปัจจุบันมีการนำดินสอพองมาใช้เล่นสงกรานต์ โดยนำมาผสมกับสีต่างๆ อาจมีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ หรือเชื้อก่อโรคอื่นๆ และหากนำมาเล่นโดยไม่ระมัดระวังอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ซึ่งมาตรการเฝ้าระวังได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2554 ที่ผ่านมา ได้เก็บตัวอย่างดินสอพองจากแหล่งผลิตและร้านค้า มาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 23 ตัวอย่าง พบว่า ทุกตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยพบการปนเปื้อนจุลินทรีย์อยู่ปริมาณสูง ตั้งแต่ 12,000-27,000,000 โคโลนีต่อกรัม และตรวจพบสารหนู 5 ตัวอย่าง ตั้งแต่ 2.5-2.9 ไมโครกรัมต่อกรัม ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานเครื่องสำอาง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้จุลินทรีย์ต้องไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัม ส่วนสารหนูไม่เกิน 2 ไมโครกรัมต่อกรัม
รมช.สธ. กล่าวต่ออีกว่า ดินสอพองเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากธรรมชาติ และไม่สามารถระบุคุณภาพด้วยการสังเกตได้ ดังนั้น หากกระบวนการผลิต มีการฆ่าเชื้อโรคที่ไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน มีโอกาสจะเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค และโลหะหนักได้ง่าย ถ้านำไปใช้สัมผัสกับผิวหนัง อาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ และเชื้อจุลินทรีย์เข้าตา หรือบาดแผล หรือสิว อาจทำให้เกิดการอักเสบรุนแรง โดยเฉพาะเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) อาจทำให้ตาอักเสบรุนแรงถึงตาบอดได้ หากเป็นเชื้อ อี.โคไล (E. coli) หรือ ซาโมเนลล่า (salmonella spp.) หรือเชื้อคลอสตริเดียม (Clostridium spp.) ถ้าเข้าปาก อาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียภายใน 8-22 ชั่วโมง หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับดินสอพองมี 2 ประเภท คือ ประเภทที่เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานใช้ผลิตผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และประเภทที่ใช้เป็นเครื่องสำอาง หรือใช้สัมผัสร่างกายโดยตรง เช่น ทาหน้า ทาตัว การผลิตดินสอพองประเภทนี้ ต้องปรับปรุงให้มีคุณภาพมาตรฐาน โดยกำหนดให้นำดินสอพอง ไปผ่านกระบวนการกรอง การใช้ความร้อน และการอบแห้ง เพื่อฆ่าเชื้อโรค พร้อมทั้งบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท มีฉลากระบุรายละเอียดอย่างถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี เนื่องจากจังหวัดลพบุรีเป็นแหล่งใหญ่ในการผลิตดินสอพอง และมีคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย โดยได้จัดประชุมให้ความรู้ผู้ประกอบการเพื่อยกมาตรฐานการผลิต ทั้งนี้ ในการเลือกดินสอพองมาใช้เล่นสงกรานต์ ควรเลือกดินสอพองที่มีสีขาวธรรมชาติ ไม่มีสีสันฉูดฉาด มีฉลากกำกับว่าเหมาะกับการใช้ทาร่างกาย และมีแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ เช่น ผลิตภัณฑ์โอทอป (OTOP) ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) หากไม่มั่นใจในความปลอดภัยอาจนำดินสอพองที่ซื้อมานำมาผ่านความร้อน โดยวิธีสะตุดิน คือ ใส่ดินสอพองในหม้อดินปิดฝาแล้วนำไปตั้งไฟให้ดินสอพองสุก หรือนำดินสอพองมาละลายน้ำสะอาดแล้วกรอง จากนั้นนำไปต้มหรืออบแห้งก็ได้ จะทำให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น