xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.แห่โทร.ปรึกษาปัญหาครอบครัวมากสุดทางสายด่วน 1323

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบประชาชน โทร.ปรึกษาปัญหาครอบครัวมากสุด ผ่านสายด่วน 1323 แนะใช้เวลาให้คุ้มค่า สร้างสุขในครอบครัว ป้องกันป่วยจิตจากยาบ้า

วันนี้ (11 เม.ย.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงาน “บ้านอุดมสุข...ความสุขสร้างได้” ณ โรงพยาบาลศรีธัญญา โดย นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า ครอบครัว คือ สถาบันมูลฐานของมนุษย์ เป็นหน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม แต่มีความสำคัญที่สุดของสังคม ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดยาวหลายวัน ถือเป็นโอกาสดีที่ครอบครัวจะได้มีโอกาสใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้นกว่าปกติ เพราะตามปกติในยุคปัจจุบัน แต่ละครอบครัวมีเวลาอยู่ร่วมกันน้อยลง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ และในกรุงเทพมหานคร การใช้เวลาอยู่ร่วมกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคน ในครอบครัวควรคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลา เพราะการใช้เวลาอยู่ร่วมกัน คือ การสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวช่วยทำให้มีความรักความผูกพันกันมากยิ่งขึ้น

รมช.สธ.กล่าวต่อว่า การที่ครอบครัวไทยต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรอบด้าน ส่งผลให้เกิดความสั่นคลอนของสถาบันครอบครัว ทั้งปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ผู้สูงอายุถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพัง ปัญหายาเสพติด ปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ปัญหาความรุนแรง ปัญหาการฆ่าตัวตาย ฆ่าผู้อื่น ปัญหาการหย่าร้าง ซึ่งจากรายงานของกรมสุขภาพจิต เกี่ยวกับการให้บริการปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบว่า ปัญหาครอบครัว เป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาขอรับคำปรึกษา ซึ่งปีที่ผ่านมา อยู่ในลำดับ 3 รองจากปัญหาสุขภาพจิต และโรคทางจิตเวช และยังพบว่า มีจำนวนประชาชนขอรับบริการเพิ่มขึ้นจากปี 2553 เกือบพันราย (ปี 2553 ขอรับบริการ 3,674 ราย ปี 2554 ขอรับบริการ 4,632 ราย) ปัญหาที่โทร.เข้ามาปรึกษา ได้แก่ ปัญหาคู่ครองนอกใจ ความไม่เข้าใจกัน ลูกติดยาเสพติด ติดเกม ติดเพื่อน เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มอายุที่โทร.เข้ามาขอรับบริการปรึกษาปัญหาครอบครัวนอกจากจะเป็นวัยผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 25-59 ปีแล้ว กลุ่มเด็กและวัยรุ่น เป็นกลุ่มรองลงมาที่โทร.เข้ามาขอรับบริการปรึกษาปัญหาครอบครัว คิดเป็นอัตราส่วนกลุ่มผู้ใหญ่ต่อกลุ่มเด็ก และวัยรุ่น ประมาณ 5:1 และขอรับบริการปรึกษามากกว่าผู้สูงอายุ ซึ่งปัญหาที่เด็กและวัยรุ่นโทร.เข้ามา ได้แก่ ความคาดหวังของผู้ปกครองต่อการเรียนของเขา การไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับการคบเพื่อน หรือการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน

รมช.สธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า เหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ส่วนหนึ่งมาจากการไม่มีเวลาให้แก่กัน อย่างไรก็ตาม บ้านเราด้วยวัฒนธรรมแบบไทยๆ ความสัมพันธ์ในระบบครอบครัว ยังคงมีความสำคัญอยู่ แม้จะดูห่างออกไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมาเริ่มสร้างกันใหม่ไม่ได้ ขอเพียงใช้เวลาที่อยู่ร่วมกันให้มีคุณค่ามากที่สุด เพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัว อาจเริ่มง่ายๆ โดย 1.สื่อสารกันในครอบครัว เช่น การได้พูดคุยกัน 2-3 คำ หรือการใช้คำพูดบางคำที่ทำให้รู้สึกถึงความห่วงใยที่มีต่อกัน หรือแม้ไม่พูดแต่แสดงความรักกันด้วยการสัมผัส หรือ การกอด ก็สื่อถึงความรักความผูกพันและความสุขที่เกิดขึ้นได้ในแต่ละวันแล้ว

2.ออกแบบและทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน เช่น ดูทีวีด้วยกัน ทำงานบ้านร่วมกัน ค้นหาเรื่องราวต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตด้วยกัน ไปกราบคุณปู่คุณย่าด้วยกัน เล่นกีฬาด้วยกัน ทำอาหารรับประทานร่วมกัน ทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน ทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกัน หรือแม้แต่การช่วยแก้ปัญหาให้กันและกัน ก็จะทำให้เวลาที่อยู่ร่วมกันมีคุณค่าแล้ว ทั้งนี้ ควรจัดสรรเวลา และคงความสม่ำเสมอ เพื่อให้การใช้เวลาอยู่ร่วมกันของครอบครัวมีคุณค่าและสร้างความสุขทางใจให้แก่กันและกันมากที่สุด

รมช.สธ.กล่าวต่อว่า นอกจากครอบครัวทั่วไปที่ควรใช้เวลาอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณค่าเพื่อสร้างความรักความผูกพันและความสุขให้เกิดขึ้นแล้ว ครอบครัวผู้ป่วยจิตเวชเองก็สามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะครอบครัวผู้ป่วยโรคจิตจากสารเสพติด ที่สำคัญ คือ ยาบ้า ซึ่งในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นสถานการณ์ข่าวผู้เสพยาบ้าก่อความรุนแรงขึ้นในสังคม ล่าสุด คือ การจี้ภรรยาเป็นตัวประกัน เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้เสพติดยาบ้าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะเกิดอาการโรคจิตเมื่อเปรียบเทียบกับสารเสพติดอื่น อาการที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ความคิดหวาดระแวง อาจเพียงสงสัย ระแวดระวัง รู้สึกว่ามีคนคอยเฝ้ามองหรือติดตามตัวเอง พูดพาดพิงถึง จนถึงมีอาการหลงผิด ประสาทหลอน โดยอาการจะเป็นๆ หายๆ เป็นพักๆ หากยังคงเสพไปเรื่อยๆ จะเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป อาการโรคจิตจะเด่นชัดขึ้น เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างเฉียบพลัน หรือมีการทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น นอกจากนี้ อาจพูดน้อย เชื่องช้าและสีหน้าไร้อารมณ์ ซึ่งอาการทางจิตในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปริมาณ ความถี่ และระยะเวลาที่เสพ ยิ่งเสพหนักเป็นเวลานาน ยิ่งพบอาการโรคจิตรุนแรงและหากอดนอนจะยิ่งทำให้เกิดอาการโรคจิตง่ายและรุนแรงมากขึ้น ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการมักเกิดภายหลัง 2-5 ปี หลังการเสพติด สำหรับผู้เสพยาบ้าเรื้อรัง ยังพบปัญหาสุขภาพจิตอื่นร่วมด้วย อาทิ ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวลและพยายามฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ การรักษา ยิ่งรักษาเร็ว ก็จะหายเร็ว หากเสพไม่นาน มักใช้เวลารักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งมีโอกาสหายได้ แต่หากเรื้อรังต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 2 เดือนในการรักษา และต้องไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปเสพ หรือได้รับสารกระตุ้นอีก รวมทั้งทานยาตามที่แพทย์สั่ง ดังนั้น ครอบครัว และชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยให้ใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวและชุมชนอย่างปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น