สธ.พบ กลุ่มสมุนไพรบำรุงกำลัง-แก้ปวดเมื่อย ถูกขโมยมากที่สุด สธ.เร่งเข็นนโยบายคุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอเพิ่มอีก 8 แห่ง เพื่ออนุรักษ์สมุนไพรที่ขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากมีผลสำรวจ พบว่า มีสมุนไพรไทย 12 ชนิด ที่อยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ 8 แห่งนี้ อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เพราะถูกขโมย หรือตัดไปขาย โดยไม่ได้ทำการส่งเสริมอนุรักษ์ให้ถูกต้อง สมุนไพรถูกขโมยมากที่สุด คือกลุ่มสมุนไพรบำรุงกำลัง มี 9 ชนิด ได้แก่ 1.เถาวัลย์เปรียง 2.กำลังวัวเถลิง 3.ฮ่อสะพายควาย 4.กำลังเสือโคร่ง 5.แส้ม้าทะลาย 6.พญารากดำ 7.เนระพูสี 8.เจตมูลเพลิงแดง 9.สบู่เลือด กลุ่มสมุนไพรแก้ปวดเมื่อยและบำรุงกำลัง 2 ชนิด ได้แก่ 1. จันทน์ขาว และ 2.จันทน์แดง และกลุ่มสมุนไพรเข้ายาตำรับแก้ไข้ 1 ชนิด คือ สมอทุกชนิด ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากสมุนไพรแต่ละชนิด ล้วนสำคัญต่อการพัฒนายาในการรักษาโรคในอนาคต และไม่ให้มีผลกระทบต่อนโยบายการส่งเสริมการใช้สมุนไพร การพัฒนายาไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยสมุนไพรต่างๆ สามารถส่งเสริมและผลิตยาเพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบัน ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ รวมทั้งยังสามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพด้านอื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น จึงมอบให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ดำเนินการเร่งอนุรักษ์คุ้มครองสมุนไพรที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น การปลูกทดแทน การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือป้องกันไม่ให้สมุนไพรดังกล่าวสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย และสามารถใช้การต่อไปได้ถึงอนาคต
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่เขตอนุรักษ์ที่ประกาศเป็นเขตคุ้มครองสมุนไพร 8 แห่ง ได้แก่ 1.พื้นที่ป่าริมพรมและป่าภูกระแต เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ 2.พื้นที่ป่ากุดตะวัน อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี 3.พื้นที่ป่าชุมชนตำบลแม่ทราย อ.ร้องกวาง จ.แพร่ 4.พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน จ.มหาสารคาม 5.พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย จ.เลย 6.พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล จ.ลำปาง 7.พื้นที่อุทยานแห่งชาติรามคำแหง จ.สุโขทัย 8.พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว จ.อำนาจเจริญ โดยพื้นที่ดังกล่าวต่อไปนี้จะเป็นเขตอนุรักษ์สมุนไพร ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 มาตรา 63 ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือ ครอบครอง ตัด โค่น แผ้วถาง เผา ทำลาย ต้นไม้ พฤกษชาติอื่น หรือทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ หรือระบบนิเวศตามธรรมชาติ ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายที่กำกับดูแลพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนคุ้มครองสมุนไพรไปแล้ว 12 แห่ง คือ 1.พื้นที่เขตอนุรักษ์ภูผากูด จ.มุกดาหาร 2.พื้นที่ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ 3.พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จ.ลพบุรี 4.พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ ภูจอง-นายอย จ.อุบลราชธานี และ 5.พื้นที่ป่าเขาสลัดได อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา 6.พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อุทยานสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี 7.พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร 8.พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.นครพนม 9.พื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก 10.พื้นที่อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จ.สตูล 11.พื้นที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว 12.พื้นที่อุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม จ.อุดรธานี รวมจนถึงขณะนี้มีพื้นที่เขตอนุรักษ์สมุนไพร 20 แห่ง