xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” ปัด บัณฑิตใหม่ตกงาน คุณภาพไม่ด้อย แนะ “สนง.สถิติฯ” สำรวจเชิงลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
“สมคิด” ชี้ เหตุบัณฑิตจบแล้วไม่ทำงานไม่ได้สะท้อนว่าบัณฑิตไม่มีคุณภาพ ย้ำ ปรัชญามหา’ลัย เน้นสร้างคนพัฒนาประเทศ ไม่ได้มุ่งสร้างคนจบแล้วทำงานทันทีเหมือนอาชีวะ รับคุณภาพบัณฑิตในปัจจุบันแตกต่างกันไป แนะสำนักงานสถิติฯ ควรสำรวจลงลึกในรายละเอียด

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สรุปผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร (มกราคม 2555) โดยระบุในตอนหนึ่งว่า ระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงาน ที่สำรวจ พบว่า ระดับอุดมศึกษา มีจำนวนมากที่สุด 9.8 หมื่นคน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 8.3 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 6.5 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 4.8 หมื่นคน และผู้ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 2.1 หมื่นคน ว่า ตนไม่แน่ใจว่า เป็นการสำรวจในกลุ่มใดบ้าง แต่ตนมองว่า การสำรวจจะต้องแยกประเภทการสำรวจผู้จบระดับปริญญาตรีด้วย เพราะปัจจุบันเด็กที่เรียนจบบางคนไม่ได้ต้องการหางานทำทันที ซึ่งมีปัจจัยอื่นๆ ทั้งเลือกที่จะเรียนต่อระดับที่สูงขึ้น หรือเรียนเพื่อความต่อเนื่อง เช่น นักศึกษาที่จบนิติศาสตร์บัณฑิต เมื่อจบแล้วส่วนใหญ่ก็จะเรียนต่อเนติบัณฑิต ซึ่งส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะก้าวสู่การทำงานเมื่ออายุ 25 ปีเป็นต้น นอกจากนี้ ต้องดูในเรื่องศักยภาพโดยรวมของประเทศด้วยเพราะหากสภาวะเศรษฐกิจไม่ดีก็ผลทำให้บริษัทไม่เปิดรับสมัครงานด้วย

“ปรัชญาการสอนของมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ได้มีหน้าที่ผลิตบัณฑิตเพื่อทำงานทำเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความรู้ มีคุณธรรม และแน่นอนว่า ทุกคนเรียนจบต้องทำงาน แม้ทุกวันนี้จะมีไม่มากนักที่จบแล้วทำงานทันที แต่ไม่ได้หมายความว่า บัณฑิตไทยไม่มีคุณภาพ อีกทั้งมหาวิทยาลัยไม่ใช่การศึกษาแบบอาชีวศึกษา ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าผลิตผู้เรียนที่จบออกมาแล้วเพื่อการมีทำงานทันที เพราะหากมหาวิทยาลัยคิดเช่นนั้น คงจะต้องโล๊ะสาขาวิชาที่เรียนจบไปไม่มีงานทำจำนวนมาก เช่น สาขาปรัชญา สาขาภูมิศาสตร์ เป็นต้น แต่เพราะสาขาเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการเรียนรู้ของมนุษย์ที่จะต้องเรียนรู้ด้วยเช่นกัน” ศ.ดร.สมคิด กล่าวและว่า ส่วนตัวคิดว่าปัจจุบันคุณภาพบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง มีความแตกต่างกัน บางแห่งผลิตบัณฑิตมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ขณะที่มหาวิทยาลัยบางแห่งผลิตบัณฑิตไม่ได้คุณภาพตามความต้องการของตลาดแรงงาน และปัจจัยการมีงานทำก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพบัณฑิตอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น การสำรวจปัญหาดังกล่าวจึงควรต้องเจาะลึกลงไปในรายละเอียดที่ชัดเจนกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น