เตือนระวังไข้หวัดระบาด หลังอากาศเปลี่ยนแปลง กรมควบคุมโรคย้ำ หากร้อนจัดเสี่ยงเป็นโรคลมแดดได้
วันนี้ (4 เม.ย.) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อน แต่พบว่าอากาศมีความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะบางครั้งอาจเกิดพายุฝน ทำให้อากาศเย็นลง และสลับอากาศร้อนถึงร้อนจัด กรมควบคุมโรคจึงมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน เพราะอากาศที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว หากร่างกายปรับตัวไม่ทันอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ต้องระมัดระวังการเจ็บป่วยเป็นพิเศษ และโรคสำคัญที่ต้องระวังในช่วงนี้ คือ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ (ตั้งแต่ 1 ม.ค.-25 มี.ค.2555) พบผู้ป่วย จำนวน 8,389 ราย อัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ 29.33 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา ภาคเหนือ 18.78 ต่อประชากรแสนคน คำแนะนำสำหรับประชาชน ไม่ควรเดินฝ่าสายฝนในขณะเกิดฝนตก ควรจัดเตรียมร่มหรือเสื้อกันฝนติดตัวไว้ หากมีอากาศเย็นลง ควรเตรียมเสื้อผ้าและผ้าห่มกันหนาว เตรียมยารักษาโรคเรื้อรังที่จำเป็น รักษาความอบอุ่นของร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวด้วยว่า สำหรับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ มักจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก มีน้ำมูกไหล อาการจะค่อยๆดีขึ้นภายใน 5-7 วัน ผู้ที่กำลังป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ห้ามออกกำลังกายหรือทำงานหนัก เนื่องจากอาจทำให้อาการทรุดลงจากการติดเชื้อลงที่ปอดได้ และหากมีอาการป่วยจากไข้หวัดใหญ่รุนแรง เช่น มีไข้สูงและไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วัน มีอาการไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หอบเหนื่อย ซึม หากเป็นเด็กจะร้องไห้งอแงมาก กินอาหารไม่ได้หรือกินได้น้อย อาเจียน ท้องเสีย ต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า อากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดในบางช่วงเวลานั้น พบว่าแต่ละวันอุณหภูมิช่วงกลางวันเวลาประมาณ 13.00-16.00 น.จะเป็นช่วงที่อุณหภูมิอากาศร้อนที่สุด โดยเฉพาะเวลาประมาณ 14.00 น.จะเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน ประชาชนอาจได้รับความร้อนมากจนเกินไปและเกิดภาวะขาดน้ำ เสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคลมแดด หรือฮีตสโตรก (Heat Stroke) อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคลมแดดมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.เด็กแรกเกิดถึงอายุ 4 ขวบ 2.ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 3.ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมาก 4.คนป่วยหรือผู้ทานยาเป็นประจำ 5.ผู้ที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ และ 6.ผู้ที่ดื่มสุราหรือเบียร์ในขณะที่มีสภาพอากาศร้อน จะปัสสาวะบ่อยเพื่อขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ทำให้เสียน้ำและเกลือแร่ตามไปด้วย
คำแนะนำสำหรับป้องกันอันตรายจากอากาศร้อน คือ เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยดื่มน้ำ 1-2 ลิตรต่อวัน สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี ใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF15 ขึ้นไปก่อนออกจากบ้าน เด็กเล็กหรือคนชราที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยควรดูแลเป็นพิเศษโดยจัดให้อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือห้องที่ระบายอากาศได้ดี อย่าเพิกเฉยต่อความรู้สึกร้อนหรือเหนื่อยเกินไปของเด็กและคนชรา อย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
“อาการของโรคลมแดด ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด ไวต่อสิ่งเร้าได้ง่าย และยังอาจมีผลต่อระบบไหลเวียน จากนั้นยังมีอาการเพิ่มเติม อาทิ ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้ตัว มีการตายของเซลล์ตับ หายใจเร็ว มีการบวมบริเวณปอด การคั่งของของเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไปจนถึงอาการช็อก การช่วยเหลือในเบื้องต้นให้นำผู้ป่วยเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้ง 2 ข้าง ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิตได้ และหากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร.0 2590 3333” ดร.นพ.พรเทพ กล่าว
วันนี้ (4 เม.ย.) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อน แต่พบว่าอากาศมีความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะบางครั้งอาจเกิดพายุฝน ทำให้อากาศเย็นลง และสลับอากาศร้อนถึงร้อนจัด กรมควบคุมโรคจึงมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน เพราะอากาศที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว หากร่างกายปรับตัวไม่ทันอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ต้องระมัดระวังการเจ็บป่วยเป็นพิเศษ และโรคสำคัญที่ต้องระวังในช่วงนี้ คือ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ (ตั้งแต่ 1 ม.ค.-25 มี.ค.2555) พบผู้ป่วย จำนวน 8,389 ราย อัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ 29.33 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา ภาคเหนือ 18.78 ต่อประชากรแสนคน คำแนะนำสำหรับประชาชน ไม่ควรเดินฝ่าสายฝนในขณะเกิดฝนตก ควรจัดเตรียมร่มหรือเสื้อกันฝนติดตัวไว้ หากมีอากาศเย็นลง ควรเตรียมเสื้อผ้าและผ้าห่มกันหนาว เตรียมยารักษาโรคเรื้อรังที่จำเป็น รักษาความอบอุ่นของร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวด้วยว่า สำหรับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ มักจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก มีน้ำมูกไหล อาการจะค่อยๆดีขึ้นภายใน 5-7 วัน ผู้ที่กำลังป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ห้ามออกกำลังกายหรือทำงานหนัก เนื่องจากอาจทำให้อาการทรุดลงจากการติดเชื้อลงที่ปอดได้ และหากมีอาการป่วยจากไข้หวัดใหญ่รุนแรง เช่น มีไข้สูงและไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วัน มีอาการไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หอบเหนื่อย ซึม หากเป็นเด็กจะร้องไห้งอแงมาก กินอาหารไม่ได้หรือกินได้น้อย อาเจียน ท้องเสีย ต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า อากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดในบางช่วงเวลานั้น พบว่าแต่ละวันอุณหภูมิช่วงกลางวันเวลาประมาณ 13.00-16.00 น.จะเป็นช่วงที่อุณหภูมิอากาศร้อนที่สุด โดยเฉพาะเวลาประมาณ 14.00 น.จะเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน ประชาชนอาจได้รับความร้อนมากจนเกินไปและเกิดภาวะขาดน้ำ เสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคลมแดด หรือฮีตสโตรก (Heat Stroke) อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคลมแดดมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.เด็กแรกเกิดถึงอายุ 4 ขวบ 2.ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 3.ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมาก 4.คนป่วยหรือผู้ทานยาเป็นประจำ 5.ผู้ที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ และ 6.ผู้ที่ดื่มสุราหรือเบียร์ในขณะที่มีสภาพอากาศร้อน จะปัสสาวะบ่อยเพื่อขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ทำให้เสียน้ำและเกลือแร่ตามไปด้วย
คำแนะนำสำหรับป้องกันอันตรายจากอากาศร้อน คือ เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยดื่มน้ำ 1-2 ลิตรต่อวัน สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี ใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF15 ขึ้นไปก่อนออกจากบ้าน เด็กเล็กหรือคนชราที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยควรดูแลเป็นพิเศษโดยจัดให้อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือห้องที่ระบายอากาศได้ดี อย่าเพิกเฉยต่อความรู้สึกร้อนหรือเหนื่อยเกินไปของเด็กและคนชรา อย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
“อาการของโรคลมแดด ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด ไวต่อสิ่งเร้าได้ง่าย และยังอาจมีผลต่อระบบไหลเวียน จากนั้นยังมีอาการเพิ่มเติม อาทิ ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้ตัว มีการตายของเซลล์ตับ หายใจเร็ว มีการบวมบริเวณปอด การคั่งของของเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไปจนถึงอาการช็อก การช่วยเหลือในเบื้องต้นให้นำผู้ป่วยเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้ง 2 ข้าง ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิตได้ และหากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร.0 2590 3333” ดร.นพ.พรเทพ กล่าว