xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง 4 โรคหน้าร้อน “ฮีท สโตรก- เพลียแดด- ตะคริวแดด- ผิวหนังไหม้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คร.เตือนหน้าร้อนระวัง 4 โรคกับแสงแดด “ฮีท สโตรก- เพลียแดด- ตะคริวแดด- ผิวหนังไหม้” ชี้เกิดจากร่างกายอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศา ร่วมภาวะขาดน้ำ รุนแรง ซ้ำร้ายถึงขั้นเสียชีวิตได้

วันนี้ (27 ก.พ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น ยิ่งช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นช่วงที่ร้อนมาก และอาจก่อให้เกิดโรคที่มากับความร้อน โดยเฉพาะภาวะโรคจากแดด ประกอบด้วย 4 โรคหลัก ได้แก่ โรคลมแดด หรือฮีท สโตรก (Heat Stroke) โรคเพลียแดด(Heat Exhaustion) โรคตะคริวแดด(Heat Cramps) และผิวหนังไหม้แดด(Sunburn) โดยโรคดังกล่าวล้วนเกิดจากการได้รับความร้อนมากจนเกินไป ประกอบกับเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งแต่ละโรคจะเกิดในภาวะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และการอยู่ท่ามกลางแสงแดดนานแค่ไหน แต่ภาวะที่รุนแรงที่สุดและเสี่ยงเสียชีวิตคือ โรคลมแดด

นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคลมแดด เป็นภาวะผิดปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายไม่สามารถปรับอุณหภูมิในร่างกายได้ทันโดยอุณหภูมิร่างกายของคนทั่วไปจะอยู่ที่ 36-37 องศาเซลเซียส แต่หากอยู่ในภาวะฮีต สโตรก ร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงราว 41-42 องศาเซลเซียส โดยจะทำให้มีอาการเป็นลม ตัวร้อนจัด ปราศจากเหงื่อ บางรายรุนแรงอาจชัก และเสียชีวิตได้ในที่สุด ทั้งนี้ พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง มักเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเกิดจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด หรืออาจพบได้ในคนที่แข็งแรง อย่างการออกกำลังที่หักโหมเกินไป รวมไปถึงการฝึกทหารเกณฑ์ก็ต้องระวัง เพราะบางรายอาจเกิดภาวะดังกล่าวได้ สิ่งสำคัญไม่ควรออกแดดจัด หรือออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างหักโหมนานเกิน 1-2 ชั่วโมง

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า นอกจากโรคลมแดดแล้ว ยังมีโรคเพลียแดด เป็นอาการที่เกิดร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินป แต่ยังไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นลมแดด เพราะยังมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ จะมีอาการอ่อนเพลีย แต่ถ้าเป็นมากอาจจะมีอาการปวดศีรษะ มึนงง กระสับกระส่าย คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนโรคตะคริวแดด เกิดจากการวิ่งในที่อากาศร้อนเป็นระยะเวลานาน ๆ ทำให้เหงื่อออกมาก และได้รับการทดแทนน้ำและเกลือแร่ไม่เพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง เป็นตะคริว โดยเฉพาะที่ขา แขน และหลัง เป็นต้น สำหรับผิวหนังไหม้แดดนั้น เกิดจากการถูกผิวหนังถูกแสงแดดแผดเผานาน เกิดอาการแดง แสบ เป็นต้น

“ โรคลมแดด เป็นอาการที่น่ากลัวที่สุด เพราะเสี่ยงเสียชีวิตได้ ซึ่งไม่ได้เสี่ยงเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรังเท่านั้น แต่ในคนแข็งแรง คนออกกำลังกาย เล่นกีฬาก็เสี่ยงเกิดภาวะนี้ โดยหากอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือเล่นกีฬาที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ก็จะทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยให้พาเข้าในที่ร่ม ให้นอนราบและยกเท้าทั้งสองข้างให้สูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงที่สมอง ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็ง ประคบตามซอกคอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มาก ควรให้ดื่มน้ำเปล่าธรรมดามาก ๆเพื่อช่วยระบายความร้อนด้วย” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ปีนี้ไม่พบผู้ป่วยโรคลมแดด เนื่องจากยังไม่ถึงขั้นร้อนมาก ขณะที่ปี 2554 ที่ผ่านมามีการแจ้งผู้เข่าข่ายโรคดังกล่าว 8 ราย แต่เมื่อวินิจฉัยพบเพียง 2 ราย และไม่พบผู้เสียชีวิต เนื่องจากปีที่ผ่านมา อากาศไม่ร้อนมาก และยังมีฝนตก น้ำท่วม อย่างไรก็ตาม หากดูแลร่างกายดีๆ หมั่นดื่มน้ำสะอาดอย่างพอเพียง และไม่ตากแดด หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเมื่อสภาพอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ก็ไม่น่าเกิดปัญหาอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น