ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย บริการผู้ป่วยฉุกเฉินร่วมของ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป ราบรื่นดี ยังไม่พบปัญหา โดยกระทรวงสาธารณสุขจะประเมินผลระบบบริหารจัดการของโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับช่วงเปลี่ยนผ่านรอบแรก ในที่ 5 เมษายน 2555 นี้ เพื่อปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการจัดบริการผู้ป่วยฉุกเฉินร่วมของ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐตามนโยบายของรัฐบาล ลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ ของทั้ง 3 กองทุน ให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพและเท่าเทียมกัน ซึ่งเริ่มใช้พร้อมกันในโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน วันที่ 1 เมษายน 2555 ว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งศูนย์ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดทั่วประเทศ ในการให้บริการปรึกษาระบบการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยไม่ทวงถามสิทธิ ไม่ต้องจ่ายเงินสำรอง ศูนย์ดังกล่าวให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยจัดเจ้าหน้าที่ผลัดละ 8-10 คน มีช่องทางประสานงานทั้งโทรศัพท์ 10 คู่สาย โทรสาร และทางอินเทอร์เน็ต โดยมีนายแพทย์ สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้อำนวยการศูนย์
นายแพทย์ ไพจิตร์ กล่าวว่า กระบวนการการบริหารการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดวางขั้นตอนไว้ 4 ขั้น ทั้งที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล แพทย์ผู้รักษา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และที่ศูนย์ประสานงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยได้จัดแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รอรับให้คำปรึกษา ตลอด 1 วันที่ผ่านมาเป็นที่น่ายินดีที่ว่ายังไม่พบปัญหา ประชาชนเข้าใจ ส่วนหน่วยให้บริการส่วนใหญ่ก็เข้าใจหลักการ คือ ให้การรักษา ไม่ทวงถามสิทธิ ไม่ต้องจ่ายเงิน จะมีที่ถามปัญหาบ้างก็คือข้าราชการ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ข้าราชการไม่สามารถไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนได้ แต่คราวนี้สามารถใช้ได้ ถ้าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินระยะเร่งด่วนและวิกฤต อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขจะประเมินผลบริการรอบแรกในวันที่ 5 เมษายน 2555 นี้ เพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบให้เกิดความคล่องตัว ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วและปลอดภัยที่สุด
ทั้งนี้ โดยทั่วไปผู้ป่วยที่ใช้บริการห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ประมาณร้อยละ 30 เป็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร ที่เหลืออีกร้อยละ 70 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินด้านอายุรกรรมที่ทำให้เกิดการป่วยกะทันหัน เช่น ช็อก หอบหืดอย่างเฉียบพลัน เป็นต้น