xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเสนอรัฐเก็บตกคนไทยไร้สิทธิรักษาเจ็บป่วยกว่า 2 ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกสมาคม รพ.เอกชน แย้งนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน ยังคลุมเครือ เสนอแจกแจงรายโรค ขณะนักเศรษฐศาสตร์ สธ.เห็นด้วยกับแผนบริการฉุกเฉิน แต่เสนอรัฐเก็บตกคนไทยไร้สิทธิรักษาพยาบาล เชื่อยังมีค้างอยู่กว่าสองล้านคน เสนอเพิ่มเตียง และบุคลากรรองรับสังคมอาเซียน

วันนี้ (28 มี.ค.) นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวในเวทีเสวนา หัวข้อ “นำร่องฉุกเฉินมาตรฐานเดียว : จับตารัฐบาลยิ่งลักษณ์กับอนาคต 3 กองทุนสุขภาพ” ที่จัดโดยความร่วมมือของสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า จากกรณีที่รัฐบาลจะเริ่มให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินในทุกสิทธิการรักษาพยาบาลในวันที่ 1 เม.ย.นั้น ตนมีความกังวลว่า เรื่องของคำนิยามยังมีความคลุมเครืออยู่ โดยในส่วนของผู้ป่วยภาวะวิกฤติ หรือสีแดง นั้นทราบดีว่าต้องช่วยเหลือตามกฎหมาย มาตรา 36 พ.ร.บ.สถานพยาบาล อยู่แล้ว แต่กรณีที่ยังคลุมเครือ คือ เรื่องของผู้ป่วยสีเหลือง ซึ่งฉุกเฉินเร่งด่วน เช่นกันแต่ยังสามารถรอได้ในระดับหนึ่ง โดยส่วนตัวมองว่า ยังมีความคลุมเครือ จึงอยากให้แจกแจงเป็นรายการของกลุ่มโรคที่ชัดเจนว่า มีโรคใดบ้างที่จำเป็นต้องให้บริการ ที่สำคัญต้องมีการ ต้องไม่ทิ้งข้อสงสัยให้ประชาชนคาใจ เช่น ระบุว่าต้องบริการผู้ป่วยฉุกเฉินที่เกิดจากอาการป่วยภาวะจิตเวช เป็นต้น ซึ่งคำว่าเป็นต้องการคำอธิบายเสมอว่า หมายถึงกลุ่มโรคใด เพราะการรวมประชาชนใน 3 สิทธิ์ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ก็หมายความว่า โรงพยาบาลต่อเตรียมพร้อมในทุกด้านรองรับบริการ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.เฉลิม กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญ ควรมีการเก็บสถิติที่แน่นอนด้วยว่า กลุ่มประชากรที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ เท่าใด และเชื่ออย่างยิ่งว่าเรื่องของการเช็คหมายเลขประจำตัวประชาชนยังเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งแน่นอนว่า คนไทยใน 3 สิทธิการรักษาพยาบาล ประกันสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ นั้นมีสิทธิในการรับบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ แต่อยากฝากให้รัฐบาลทราบว่า ยังมีคนไทยอีกมากที่ไม่อยู่ใน 3 สิทธิดังกล่าว เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างตามองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลยังบริการไม่ทั่วถึง แต่ในฐานะผู้บริการซึ่ง รพ.เอกชนที่มีทั้งหมด 322 แห่ง และมีเตียงรองรับกว่า 3 หมื่น 3 พันเตียงนั้นก็ต้องเตรียมรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีสิทธิการรักษาที่ชัดเจนด้วย ซึ่งส่วนนี้ควรจะเร่งดำเนินการก่อนที่ไทยจะเข้าสู่สังคมอาเซียน

นายกสมาคม รพ.เอกชน กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม อยากให้การพัฒนาระบบสุขภาพเป็นไปด้วยความมั่นคง และยั่งยืน โดยส่วนตัวเชื่อว่า ระบบประกันสังคมมั่นคงที่สุด เพราะเป็นการร่วมจ่ายเพื่อสร้างเงินออมทรัพย์ จากภาษีของคนไทยเอง หากพัฒนาจุดแข็งของระบบได้ จะทำให้มีความมั่นคงมากขึ้น

ขณะนี้คนไทยมีจำนวนกว่า 65 ล้านคน แต่เสียภาษีแค่ 6 ล้านกว่าคนเท่านั้น ดังนั้น หากมีการส่งเสริมให้เกิดการร่วมจ่ายก็แน่นอนว่าจะต้องเกิดบริการที่ดี เกษียณอายุงานก็มีเงินไว้ใช้ แต่ก็เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวเท่านั้น อย่างไรก็ตามอยากให้มองว่า การพัฒนาระบบสุขภาพควรเป็นไปแบบยั่งยืน สามารถรองรับการแข่งขันในอนาคตได้ และแน่นอนว่าหากจับจุดเริ่มบริการที่การเจ็บป่วยฉุกเฉินก็ต้องมีระบบส่งต่อที่ดี และรวดเร็วซึ่งส่วนนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.)ควรมีบทบาทอย่างมากในการบริการประชาชน

ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า นโยบายบริการผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นการเดินมาอย่างถูกทางแล้ว ซึ่งน่าชื่นชมว่าเป็นเรื่องที่สามารถเดินหน้าได้เร็ว และไม่มีเสียงคัดค้าน แต่ว่า ขณะนี้ยังเหลือคนไทยที่ไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลที่ชัดเจน ได้แก่ พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แรงงานชั้นสอง พนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน รัฐบาลต้องมีส่วนในการรับผิดชอบด้วย จึงจะเรียกว่าพัฒนารับบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมได้จริง เพราะขณะนี้แม้จะลดความเหลื่อมล้ำในบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ แต่ก็ทำได้แค่เบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น ต้องเร่งปรับปรุงต่อเพื่อให้เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง นอกจากนี้ในส่วนของประกันสังคมที่ตนยังมีข้อท้วงติงอยู่ ก็คือ การประกาศให้ผู้ประกันตนที่ใช้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน รพ.ในเครือข่ายของประกันสังคม สามารถเบิกจ่ายได้สูงถึง 15,000 บาทขณะที่ รพ.นอกเครือข่ายจะต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในวันที่ 1 เม.ย.นี้ เบิกจ่ายได้แค่ 10,500 บาท เท่านั้น ดังนั้นประกันสังคมควรที่จะปรับมาให้เท่ากับระบบอื่น

ดร.นพ.พงศธร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ในเรื่องของการปรับปรุงเรื่องจำนวนบุคลากร และเรื่องการเสริมเตียงนอนผู้ป่วย ก็ยังสำคัญไม่แพ้กัน โดยขณะนี้มีเตียงรวมกันทั้ง รพ.เอกชน และ รพ.รัฐ แค่ 150,000 กว่าเตียงเท่านั้น ขณะที่ต่างประเทศมีถึง 200,000 เตียง ซึ่งไทยยังมีน้อยกว่าเท่าตัว จึงจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงก่อนที่สังคมอาเซียนจะมาถึงด้วย เพื่อให้ประชาชนมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

“นอกจากการบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินและการเพิ่มศักยภาพบุคลากรและจำนวนเตียงแล้วอยากให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มสิทธิรักษาโรคมะเร็งในระบบต่างๆด้วย โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่มีคนป่วยนับแสนราย ซึ่งต้องใช้ยาริทูซิแมบ (Rituximab) ซึ่งขณะนี้มีราคาแพงมาก เฉลี่ยอยู่ที่เข็มละ 62,000 กว่าบาท โดยผู้ป่วยแต่ละรายต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท ต่อปี ซึ่งยาดังกล่าวคนเข้าถึงได้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะสิทธิข้าราชการ แต่ทั้งนี้หากเป็นสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าเคยมีบริการช่วยเหลือสามารถซื้อได้ในราคาเข็มละประมาณ 20,000 บาท ซึ่งหากมีการเพิ่มบริการแก่คนไทยให้เหมือนกับโรคไต หรือโรคเอดส์ก็จะเป็นการพัฒนาระบบที่ดีเช่นกัน” ดร.นพ.พงศธร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น