องค์กรสตรี-เด็ก บุก กทม.จี้ “รองผู้ว่าฯ” วางแผนรับมือสงกรานต์ ทั้งโป๊เปลือย เมาขาดสติ วอนขอพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย ระบุ คกก.คุมเหล้า กทม.จริงใจแก้ปัญหาน้ำเมา ขณะที่ “หมอมาลินี” รับลูก สั่งพื้นที่ กทม.เล่นน้ำปลอดเหล้า ย้ำ ไม่ซ้ำรอยบทเรียนเปลือยอกสีลม เหตุทำ กทม.เสียหน้า
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 13.00 น.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพ และเครือข่ายเกสรชุมชน กทม.กว่า 50 คน รวมตัวกันยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกันปัญหาความรุนแรง การคุกคามทางเพศ และอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ในช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาความรุนแรง อนาจาร การทะเลาะวิวาท ในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ไม่มีการควบคุมให้เหมาะสม ในกรุงเทพฯ ทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น กรณีสงกรานต์พื้นที่สีลม ที่มีเยาวชนเมาเต้นเปลือยอก ด้วยการยั่วยุของคนรอบข้างจำนวนมาก จนกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก เกิดการทะเลาะวิวาท ยิงกัน ตีกัน การรวมกลุ่มกันไปปิดถนนตามจุดต่างๆ ด้วยความเมา ในขณะที่อุบัติเหตุจากคนดื่มแล้วขับ ยังเกิดขึ้นจนดูเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น การลดปริมาณพื้นที่เสี่ยงจึงเป็นสิ่งที่ กทม.ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักต้องเข้ามาควบคุมดูแล และขอให้นำข้อเสนอจากภาคประชาชนไปพิจารณาดังนี้
1.มีการวางแผนเชิงรุกรับมือกับปัญหาและพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ อาทิ สร้างกลไกระงับเหตุ การประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ การรับแจ้งข่าวร้องทุกข์ และหากพื้นที่ใดที่จัดงานแล้วเกิดเหตุ โดยมิได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขพื้นที่นั้นต้องรับผิดชอบ 2.มีนโยบายให้แต่ละเขตจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อความปลอดภัยกับผู้หญิงและเด็กและเป็นการลดพื้นที่เสี่ยง โดยมีผลสำรวจความคิดเห็นชาว กทม.ในปี 2554 กว่าร้อยละ 87.9 สนับสนุนในประเด็นนี้
ข้อ 3.ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม.ขอให้เข้มงวดกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็ก ขายให้คนเมาขาดสติ ขายโดยไม่มีใบอนุญาต รวมถึงการเร่ขาย และขอให้เร่งประชาสัมพันธ์ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ข้อสำคัญคือ กำชับเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่เป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง และ 4.ขอให้พึงตระหนักว่าการทำกิจกรรมร่วมกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม.จะตกเป็นเครื่องมือในการสร้างภาพประชาสัมพันธ์ รวมทั้ง CSR ให้ธุรกิจบาป และมีความหมิ่นเหม่ต่อการทำความผิดพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้งมาตรา 30 และมาตรา 32 จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
ด้านนายนรินทร์ แป้นประเสริฐ แกนนำเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพ กล่าวว่า กทม.ต้องประกาศนโยบายในเขตพื้นที่ให้ชัดเจน ว่า จะแก้ปัญหาสงกรานต์เมาในปีนี้อย่างไร เพราะความพร้อมด้านบุคลากร เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีเพียงพอต่อการควบคุมอยู่แล้ว ซึ่งสงกรานต์ทุกปีปัญหาที่เกิดมาจากการดื่มแล้วเมาขาดสติ และไปเล่นสาดน้ำผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย คือ ผู้หญิง และเด็ก มีทั้งถูกรังแก ล่วงละเมิดหากมีการควบคุมไม่ให้เข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ง่าย ไม่ขายเหล้าให้เด็กซึ่งมีกฎหมายอยู่แล้วปัญหาและความสูญเสียจะไม่เกิดขึ้นแต่หากปล่อยให้วัวหายแล้วจึงล้อมคอก ความเสื่อมความสูญเสียก็จะมีให้เห็นทุกปี และอยากเรียกร้องต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานครให้จริงใจ และมีบทบาทในการลดผลกระทบให้มากกว่านี้ตอนนี้ในต่างจังหวัดมีความก้าวหน้าไปมากมีการออกมาตรการควบคุมเฉพาะจังหวัดขึ้นมาโดยเฉพาะช่วงสงกรานต์แต่เรายังไม่เห็นสัญญาณอะไรเลยที่ กทม.จะจัดการปัญหาน้ำเมาอย่างจริงจังทั้งที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ
พญ.มาลินี กล่าวภายหลังรับข้อเสนอ ว่า ทาง กทม.จะทำหนังสือไปยังทุกเขตของพื้นที่ กทม.เพื่อให้จัดกิจกรรมสงกรานต์อย่างสร้างสรรค์ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น หากมีการฝ่าฝืนจะต้องถูกคาดโทษ ส่วนการจัดงานในพื้นที่เฉพาะ หรืองานที่เอกชนจัดเองนั้น เมื่อเกิดปัญหา หรือเลยเถิดผู้จัดงานต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่สีลมปีที่แล้ว คงให้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว เพราะถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ กทม.เสียหน้า