xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหล้า รณรงค์ปลอดเหล้า เราปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ละครล้อเลียน อุบติเหตุทางถนน
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จับมือ สน.โชคชัย รณรงค์ปีใหม่ “รถปลอดเหล้า เราปลอดภัย” ชวนผู้ใช้รถงดดื่มแอลกอฮอล์ ด้านที่ปรึกษาเครือข่ายฯ แนะไทยเลียนแบบสหรัฐฯ ออกกฎห้ามดื่มทั้งคนขับ-ผู้โดยสาร

วันนี้ (29 ธ.ค.) ที่บริเวณริมฟุตปาธ ใต้ทางด่วนรามอินทรา ตัดถนนลาดพร้าว เมื่อเวลา 11.00 น. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย จัดกิจกรรมรณรงค์ “รถปลอดเหล้า เราปลอดภัย” เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนให้งดดื่มเหล้าตลอดการเดินทาง ทั้งคนขับ และผู้โดยสาร นอกจากนี้ยังมีการแสดงชุด “หยุดปีศาจสุรา” โดยเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่กว่า 20 คน จากนั้นได้ร่วมเดินแจกสื่อรณรงค์ Don’t Drink Driving ให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนที่สัญจรผ่านไปมา และติดป้าย No Alcohol In Car ให้รถที่คนขับไม่ดื่ม 100%

พ.ต.อ.พรชัย ขจรกลิ่น ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้ปฏิบัติตามนโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วงเทศกาลปีใหม่อยู่แล้ว ทั้งเรื่องการบริการจราจร และการตั้งด่านตรวจบนท้องถนน ตลอดจนกิจกรรมประชาสัมพันธ์เมาไม่ขับ ซึ่งจะดำเนินงานตามแผนของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่วางไว้อย่างเต็มที่ รวมทั้งจัดกรรมร่วมกับทางเครือข่ายงดเหล้าที่จะออกประชาสัมพันธ์ งดการดื่มเหล้าในการใช้รถใช้ถนน ซึ่งตามปกติทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีการตั้งด่านผลัดดึกอยู่เป็นประจำทุกวัน

“ไม่ว่าผู้ใช้รถจะดื่มในรถ หรือนอกรถก็ตาม เมื่อผ่านด่านตรวจปรากฏว่ามีแอลกอฮอล์เกินกำหนดก็มีความผิดตามกฎหมาย ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งทุกๆ ปีทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีมาตรการในการแนะนำผู้ดื่มที่ใช้รถใช้ถนนอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่คือ การมีสามัญสำนึกของผู้ขับขี่มากกว่า เจ้าหน้าที่มีหน้าที่เพียงการบังคับใช้กฎหมาย หากมีการกระทำความผิด และขอฝากข้อคิดถึงผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงปีใหม่เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนว่า สิ่งสำคัญคือ ดื่มไม่ขับ ควรมีคนขับให้เพื่อลดอุบัติเหตุและความสูญเสียทั้งตัวเองและผู้อื่น รวมทั้งขอให้มีความอะลุ้มอล่วย มีน้ำใจมีสติในการใช้รถใช้ถนนในช่วงเทศกาลนี้” พ.ต.อ.พรชัยกล่าว

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนเริ่มทยอยเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก และการเดินทางในช่วงนี้มักจะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าช่วงปกติหลายเท่า ปีใหม่เป็นหนึ่งใน 2 งานเทศกาลที่มีสถิติอุบัติเหตุเสียชีวิตมากที่สุด ส่วนต้นเหตุของปัญหานี้คงหนีไม่พ้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ยืนยันชัดเจนว่า ปีใหม่ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 358 ราย สาเหตุหลักเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สวมหมวกกันน็อก

นายจะเด็จกล่าวว่า นอกจากนี้กลุ่มที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษในช่วงนี้ คือ การโดยสารบนท้ายรถกระบะ เพราะการออกแบบไม่ได้มีไว้สำหรับบรรทุกคน และไม่มีเข็มขัดนิรภัย ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูง ประกอบกับสถิติการเสียชีวิตในช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมา พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่ง ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด และการเสียชีวิต 15% มาจากรถกระบะ ทั้งนี้จะเห็นว่า ในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามีการพัฒนากฎหมายโดยห้ามดื่ม ห้ามครอบครองสุราในยานพาหนะ (open container law) เพื่อควบคุมการดื่มทั้งผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร ขณะนี้มี 39 รัฐที่บังคับใช้ ซึ่งห้ามทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ห้ามทั้งการดื่มหรือครอบครองบรรจุภัณฑ์ที่อยู่ในลักษณะพร้อมดื่ม เช่น มีการเปิดขวดแล้ว ในบริเวณที่มีผู้โดยสารอยู่ รวมถึงช่องเก็บของต่างๆในบริเวณส่วนโดยสาร โดยกฎหมายนี้ครอบคลุมยานพาหนะแทบทุกชนิด และบังคับใช้ได้ทั้งรถบนท้องถนนและที่อยู่บนไหล่ทาง แต่จะอนุญาตให้เก็บเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้หากเก็บในล็อกและไม่มีโอกาสจะดื่มได้ เช่น กระโปรงหลังรถ

นายจะเด็จกล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษาขององค์การความปลอดภัยทางถนนของสหรัฐอเมริกา พบว่า ในหลายรัฐที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรลดลง และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ในระยะเวลาต่อมาก็ยืนยันว่า รัฐและเมืองที่มีกฎหมายฉบับนี้มีจำนวนการเสียชีวิตน้อยกว่าพื้นที่ที่ไม่มีกฎหมาย นอกจากนั้นยังพบว่า บางประเทศมีการกำหนดบทลงโทษแก่ผู้โดยสารในลักษณะความรับผิดชอบร่วมกันหากผู้ขับขี่ดื่มแล้วขับด้วย

“ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ประเทศไทยจะมีการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้ ซึ่งเครือข่ายฯขอส่งสัญญาณไปยังกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ให้เร่งพิจารณาเพื่อออกกฎหมายลูกเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เช่น ห้ามดื่มท้ายรถกระบะ เพราะที่ผ่านมาภาคประชาชนได้เสนอนโยบายนี้หลายครั้งแต่กลับไม่มีการนำไปพิจารณาเพื่อบังคับใช้” ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบกล่าว

ด้าน นายแสนดี พระทัยดี อายุ 35 ปี ผู้ประสบอุบัติเหตุเมาแล้วขับรถจักรยานยนต์ กล่าวว่า เมื่อช่วงปีใหม่ พ.ศ. 2549 ตนประสบอุบัติเหตุเมาขับขี่รถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วจนเสียหลักไถลล้มลงข้างทาง กระดูกคอเคลื่อน ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 7 เดือน แพทย์วินิจฉัยว่าอาจจะทำอะไรไม่ได้ต้องนอนตลอดชีวิต จากนั้นจึงกลับมาอยู่ที่บ้านก็พยายามทำกายภาพบำบัด 1 ปี จนสามารถค่อยๆลุกขึ้นเดินแต่ก็ยังต้องอาศัยเครื่องช่วยเดินจนถึงตอนนี้ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมจำได้ไม่ลืม เพราะนอกจากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วยังขับรถด้วยความประมาทจนต้องทำให้ตัวเองพิการตลอดชีวิต และขาดโอกาสในการทำงาน

“โชคยังดีที่เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่มีใครได้รับผลกระทบจากการเมาแล้วขับของผม ซึ่งอยากฝากถึงการใช้รถใช้ถนนว่าไม่ควรประมาท และการเฉลิมฉลองปีใหม่นี้เราไม่จำเป็นต้องไปพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะผมไม่อยากเห็นการสูญเสียและการนั่งนับสถิติว่าปีนี้บาดเจ็บ พิการ เสียชีวิตเท่าไหร่ และจังหวัดไหนที่เสียชีวิตมากที่สุด เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วมันไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ จึงอยากวิงวอนให้ทุกคนเฉลิมฉลองปีใหม่แต่พอเหมาะพอควรแบบมีสติ ขอให้นึกอยู่เสมอว่า หากเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่ว่าตัวเองหรือคู่กรณีก็มีแต่ความสูญเสีย” นายแสนดีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น