xs
xsm
sm
md
lg

พบเด็ก “อุ้มผาง” มีสารตะกั่วปนในเลือดกว่า 60% กรมควบคุมโรคแนะใช้ภาชนะสเตนเลสประกอบอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กรมควบคุมโรค แนะประชาชนใช้ภาชนะสเตนเลส ประกอบอาหาร หลังสุ่มตรวจภาชนะประกอบอาหารที่ อุ้มผาง พบสารตะกั่วสูงเกินมาตรฐาน ขณะตรวจร่างกายเด็กเจอร้อยละ 60 มีสารตะกั่วในเลือด

วันนี้ (15 มี.ค.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กรณีการตรวจพบสารตะกั่วในเด็กที่อำเภออุ้มผาง จ.ตาก ว่า จากรายงานการตรวจพบสารตะกั่วโดยการสำรวจของกรมควบคุมโรคร่วมกับโรงพยาบาล (รพ.) อุ้มผาง พบปริมาณสารตะกั่วในเลือดของเด็กในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในจังหวัดตาก บริเวณแนวตะเข็บชายแดน พบปริมาณสารตะกั่วในเลือดสูงกว่าเกณฑ์กำหนด จากการสันนิษฐานอาจจะเกิดได้จาก 2 กรณี คือ 1.จากภาชนะที่ใช้ในการประกอบอาหาร 2.จากแบตเตอรี่สำหรับชาร์จไฟจากแผงโซลาร์เซลล์

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบสวนหาสาเหตุการเกิดโรค และดำเนินการเก็บตัวอย่างภาชนะที่ใช้ประกอบอาหารไปส่งตรวจ ผลการตรวจพบว่า สาเหตุหลักมาจากภาชนะที่ใช้ในการประกอบอาหารเป็นประจำวันมีสารตะกั่วที่ปนเปื้อน ลักษณะเป็นโลหะผสมคุณภาพต่ำ ราคาถูก ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน จากการนำกระทะ หม้อแขก ส่งตรวจหาค่ามาตรฐานสารตะกั่ว พบสารตะกั่วที่เป็นส่วนประกอบในกระทะ 800 ส่วนต่อล้านส่วน ในหม้อแขกพบ 400 ส่วน ต่อล้านส่วน ซึ่งค่ามาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขภาชนะที่ใส่อาหารต้องมีค่าสารตะกั่วละลายปนเปื้อนในอาหารได้ไม่เกิน 5 ส่วน ต่อล้านส่วน สำหรับแบตเตอรี่ตรวจสอบแล้วไม่น่าจะเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยในครั้งนี้ และจากการสุ่มตรวจเด็กที่ อำเภออุ้มผาง ประมาณ 200 กว่าคน พบเด็กร้อยละ 60 ของเด็กที่ได้รับการตรวจมีสารตะกั่วมีสารปนเปื้อนในเลือดสูง มี 12 คน ได้รับยาขับสารตะกั่วออกจากร่างกายขณะนี้เด็ก 12 คนปลอดภัยแล้ว จากการเฝ้าระวังการป่วยจากการได้รับสารตะกั่วเกินมาตรฐาน กรมควบคุมโรค พบว่า ที่ผ่านมา แต่ละปีมีผู้ป่วยน้อยมากมีเพียงประปราย เช่น ในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ หรือในบริเวณที่มีเหมืองตะกั่ว ซึ่งขณะนี้แก้ไขปัญหาไปแล้วจึงไม่ต้องตกใจ สำหรับเด็กที่มีปริมาณสารตะกั่วในร่างกายสูงจะมีอากาศซึมเศร้าเคลื่อนไหวช้า ผิวดำหมองคล้ำเป็นจุดๆ ถ้าได้รับสารตะกั่วเป็นเวลานานจะส่งผลต่อการทำงานของตับเกิดภาวะตับเป็นพิษ และทำให้สมองทึบ

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า นอกจากการดำเนินการดังกล่าวแล้วยังได้ประสานไปยังหน่วยงานในพื้นที่ให้มีการประชาสัมพันธ์กับประชาชนให้รู้จักเลือกใช้ภาชนะ เช่น ใช้ภาชนะสเตนเลส และวิธีการดูแลเด็กที่มีการสัมผัสสารตะกั่ว รวมทั้งอาจต้องซื้อภาชนะใหม่เปลี่ยนให้กับประชาชน หากประชาชน หรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะสนับสนุนงบประมาณ สำหรับการจัดซื้อภาชนะเปลี่ยนให้กับชาวบ้านในพื้นที่สามารถร่วมบริจาคได้ที่หมายเลขบัญชี 02-005227-549 ธนาคารออมสิน สาขาอุ้มผาง ชื่อบัญชีเงินบำรุงโรงพยาบาลอุ้มผาง (บริจาค) หรือบริจาคได้ที่ กรมควบคุมโรค โทร.1422
กำลังโหลดความคิดเห็น