“วิทยา” กำชับผู้บริหาร สธ.รายงานผลตรวจสอบยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดฯใน รพ.ทุกแห่ง ภายใน 7 วัน
วันนี้ (14 มี.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข เพื่อมอบนโยบายและเร่งรัดติดตามการแก้ไข และพัฒนาระบบริการสาธารณสุข รวมทั้งมาตรการควบคุมป้องกันการรั่วไหลของยาแก้ไข้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ออกจากโรงพยาบาลในสังกัด ว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขออกคำสั่งให้ระงับการสั่งซื้อ การจ่ายยาแก้ไข้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการรั่วไหลยาดังกล่าว และเพื่อการตรวจสอบปริมาณการใช้ และยอดคงเหลือในโรงพยาบาลง่ายขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล จนถึงวันนี้ ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลประมาณ 5 จังหวัด จึงได้กำชับปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ให้เร่งรัดติดตามความคืบหน้าของการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ทั้งปริมาณการสั่งซื้อย้อนหลัง 1 ปี การสั่งจ่ายให้ผู้ป่วย ให้รายงานผลการตรวจสอบภายใน 7 วัน
“หากพบว่ากรณีที่อาจส่อไปในทางทุจริต ประมาทอย่างร้ายแรง เป็นเหตุหรือเชื่อว่าเป็นเหตุให้เกิดปัญหาการรั่วไหลของยาดังกล่าวไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ให้ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด และไม่เอาไว้ในระบบราชการ หากเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกระทำผิด ขอให้ส่งเรื่องไปยังสภาวิชาชีพ เพื่อดำเนินการทางจรรยาบรรณวิชาชีพด้วย” นายวิทยา กล่าว
รมว.สธ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ผู้บริหารระดับสูง ติดตามเร่งรัดในอีก 6 เรื่อง ได้แก่ 1.การบำบัดผู้เสพยาเสพติดเป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อเร่งลดจำนวนผู้ใช้ยาลงให้มากที่สุด และไม่ให้กลับไปเสพยาซ้ำ โดยในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2555 มีผู้เสพยาเข้ารับการบำบัดในสถานบำบัดทั่วประเทศ 1,955 แห่ง ทั้งหมด 144,502 ราย 2.ให้เร่งแก้ไขปัญหาการร้องเรียนต่างๆ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรที่ประชาชนฝากชีวิตไว้ และเป็นองค์กรที่ได้รับความชื่นชม 3.ให้เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้ทันตามกำหนด เนื่องจากเหลือเวลาประมาณ 7 เดือน โดยเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็ง เพื่อให้โครงการเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยเร็ว
4.การติดตามความคืบหน้าของการเริ่มนโยบายเมนูสุขภาพ ป้องกันโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาลทั่วประเทศ และไม่อนุญาตให้นำอาหารอื่นไปให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับประทานในโรงพยาบาล ซึ่งกำหนดให้โรงพยาบาลทุกแห่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2555 เป็นต้นมา รวมทั้งการให้ความรู้แก่ญาติผู้ป่วยในการดูแลสุขภาพ ป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง 5.ให้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจผู้บริหาร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ในการเตรียมความพร้อมให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ภายใต้สิทธิ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐทันที โดยไม่มีการสอบถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า สนองนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนในวันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติเป็นไปในทางเดียวกัน 6.การจัดครัวอาหารฮาลาล บริการผู้ป่วยที่เป็นชาวไทยมุสลิม ที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือโรงพยาบาลอื่นที่ตั้งอยู่ในชุมชนที่มีมุสลิมมาก