โดย..คุณวัตร ไพรภัทรกุล
อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่คนเราต้องบริโภคทุกวัน เพื่อประโยชน์ต่อร่างกาย จนถึงช่วยรักษาโรคบางชนิดตามสรรพคุณของอาหารนั้นๆ หากแต่สิ่งที่เราบริโภคทุกวันถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมี หรือแม้แต่การปรุงรสตามรสนิยมของคนรับประทานก็ตาม อาหารที่ว่าก็อาจจะถูกเปลี่ยนกลายเป็นโทษทำร้ายตัวเอง จึงควรตระหนักอย่างยิ่งว่าเราอาจเป็นส่วนหนึ่งของการทำร้ายตัวเองทุกมื้อในทุกๆวัน เพียงแค่เราเติมรสเค็มเพียงช้อนชาเดียว
นางสุจิตต์ สาลีพันธ์ รักษาการนักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านโภชนาการ) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พฤติกรรมของคนในปัจจุบันมีการบริโภคอาหารที่ไม่สมดุลกับความสมดุลของร่างกาย เช่น การบริโภคมากเกินไป ประกอบกับการขาดการออกกำลังกาย มีภาวะเครียด จนทำให้มีผลต่อสุขภาพ เพราะจากรายงานในรอบ 6 ปี (2548-2553) คนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดสมอง และมะเร็ง เพิ่มขึ้นกว่า 1.6 เท่า และตายเพิ่มขึ้น 1.1 เท่า โดยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางไตส่งผลให้เป็นโรคไตวายกว่า 386,102 ราย และตายจากโรคไตถึง 13,763 คน
“จากตัวเลขข้างต้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้เกิดการป้องกัน จึงต้องมีการรณรงค์อย่างการ ‘กินรสจืด ยืดชีวิต’ เพราะอาหารที่เรากินส่วนมากจะมีรสเค็มและหวาน โดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ว่าในแต่ละวันเรากินเกลือหรือน้ำตาลเกินความจำเป็นอย่างมาก อย่างการกินรสเค็มที่มาจากโซเดียมนั้น วันหนึ่งเราไม่ควรกินโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือไม่ควรบริโภคเกลือ เกินวันละ 1 ช้อนชา แต่จากค่าเฉลี่ยในปัจจุบัน คนเรากินโซเดียมถึง 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน” นางสุจิตต์ กล่าว
ทั้งนี้ แหล่งที่มาของโซเดียมนอกจากในเกลือแล้ว ยังมีที่มาจากอาหารธรรมชาติ น้ำปลา ซีอี๊ว ผักดอง ไข่เค็ม ไส้กรอก หมูยอ ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น โดยจะเป็นส่วนประกอบของอาหารเหล่านั้น ซึ่งเราสังเกตได้จากฉลากที่จะบอกถึงส่วนผสมและปริมาณโซเดียม
นางสุจิตต์ กล่าวอีกว่า เทคนิคในการลดกินเค็มควรเริ่มจากการค่อยๆ ลดการปรุงรส เช่น จากที่เคยกินน้ำปลา 2 ช้อน ก็ให้ลดเหลือ 1 ช้อน ควรจะชิมก่อนปรุงให้เป็นนิสัย ลดการกินอาหารแปรรูปต่างๆ ลดการกินอาหารกึ่งสำเร็จรูป หากรับประทานก็ไม่ควรใส่เครื่องปรุงจนหมดซอง ลดการกินน้ำจิ้ม อย่างการกินอาหารทอด สุกี้ หมูกระทะ หอยทอด เฟรนฟรายด์ เพราะในน้ำจิ้มมีปริมาณโซเดียมสูง ไม่ควรมีเครื่องปรุงรสวางอยู่บนโต๊ะอาหาร
“ควรอ่านฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค สุดท้ายแล้วเราก็ควรที่จะทำอาหารกินเองจึงจะดีที่สุด เพราะเราจะรู้ว่าควรปรุงปริมาณเท่าไหร่ถึงจะไม่ทำร้ายสุขภาพ แต่พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปจึงมักซื้ออาหารจากนอกบ้าน ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่จะควบคุมปริมาณของโซเดียม”นางสุจิตต์กล่าว
นักวิชาการด้านอาหารท่านหนึ่งได้พูดถึงผลการสำรวจหนึ่งว่า ก่อนหน้านี้เรามีปัญหาด้านคนขาดการศึกษา แต่ปัจจุบันคนเรานอกจากจะขาดการศึกษาแล้ว ยังพบว่ายังขาดความรู้ทางด้านอาหารและโภชนาการอีกด้วย เพราะปัญหาของคนทั่วโลกในขณะนี้คือ ไม่รู้ที่มาของอาหารว่า ผลิตจากอะไร ปริมาณเท่าไหร่ มีคุณมีโทษอย่างไรบ้าง นั่นก็เท่ากับว่าเราในฐานะผู้บริโภคได้ฝากชีวิตไว้กับอาหารยี่ห้อต่างๆ แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นอาจจะย้อนกลับมาทำร้ายเราโดยเราไม่ทันรู้ตัว