xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานน้ำท่วมอีกกว่า 1.6 แสน ยังไม่กลับเข้าโรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อธิบดี กสร.เผย แรงงานน้ำท่วมกว่า 1.6 แสนคนยังไม่กลับเข้าโรงงาน แนะเข้าร่วมโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ยืนยันแรงงาน “โตชิบา” 4 พันคน ไม่ถูกเลิกจ้างหลังอเมริกาเข้ามาบริหารงาน ด้านแรงงาน บ.ไซโก้อินสทรูเม้นท์ 300 คน บุก ก.แรงงาน จี้ เจรจานายจ้างเพิ่มสวัสดิการค่าครองชีพ ค่าที่พักพร้อมจ่ายเงินเพิ่มพิเศษชดเชยเลิกจ้าง

วันนี้ (13 มี.ค.) เวลา 10.30 น.ที่กระทรวงแรงงาน พนักงานบริษัทไซโก้อินสทรูเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตและประกอบชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี ประมาณ 300 คน ได้มารวมตัวกันที่กระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มสวัสดิการให้แก่พนักงานที่สมัครใจย้ายไปทำงานในจังหวัดฉะเชิงเทรา และเพิ่มค่าชดเชยพิเศษ และค่าตกใจให้แก่พนักงานที่ไม่ต้องการไปทำงานด้วย

ต่อมาเวลา 11.30 น.กลุ่มพนักงานได้รวมกันพังแผงเหล็กกั้นบริเวณบันไดทางขึ้นชั้น 2 ของอาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อบุกขึ้นไปบริเวณชั้นบนของอาคารเพื่อรอฟังผลการพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่ของ กสร.กับทางบริษัท

นายวัชรินทร์ มิ่งมาศ วัย 52 ปี หัวหน้าช่างเครื่องจักรบริษัท ไซโก้ กล่าวว่า บริษัทถูกน้ำท่วมและได้เพิ่มฐานการผลิตที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีข้อเสนอของบริษัทที่ให้พนักงานตัดสินใจว่าจะออกหรือย้ายไปทำงานที่ จ.ฉะเชิงเทรา ถือเป็นการกดดันให้คนงานต้องตัดสินใจภายในวันที่ 16 มีนาคมนี้ และข้อเสนอของนายจ้างยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงได้มารวมตัวกันเรียกร้องใน 2 ประเด็น คือ พนักงานที่สมัครใจออก นายจ้างควรจ่ายค่าชดเชยพิเศษ และค่าตกใจให้กับคนงานเพิ่มเติม ส่วนพนักงานที่สมัครใจย้ายไปทำงานที่ฉะเชิงเทรา นายจ้างควรเพิ่มค่าขนย้ายซึ่งขณะนี้จ่ายให้อยู่ที่คนละ 1.5 หมื่นบาท เมื่อย้ายไปได้ 3 เดือนให้เพิ่มอีก 3,000 บาท รวมทั้งเพิ่มค่าที่พักให้ด้วย เนื่องจากมองว่ามีค่าครองชีพที่สูงกว่าปทุมธานีและสถานที่ทำงานกับที่พักต่างๆ ห่างไกลแสดงถึงความไม่ปลอดภัย จริงอยากให้นายจ้างใส่ใจในเรื่องนี้ด้วย
นายอาทิตย์ อิสโม
นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรณีของบริษัท ไซโก้นั้น ก่อนหน้านี้ ได้มีการเจรจากันและจบไปแล้วโดยทางบริษัทให้พนักงานย้ายไป จ.ฉะเชิงเทรา ตามความสมัครใจ และกรณีเลิกจ้างก็จ่ายเงินชดชยตามกฎหมาย แต่พนักงานรู้สึกไม่พอใจจึงได้มารวมตัวกัน ซึ่งเรื่องนี้ตนมองว่าไม่น่ามีการรวมตัวกัน เพราะสร้างความไม่สะดวกให้แก่ประชาชนที่มาติดต่อราชการที่กระทรวงแรงงาน ขณะเดียวกัน แรงงานยังเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย อย่างไรก็ตาม เท่าที่เจ้าหน้าที่ของ กสร.ได้สอบถามทางบริษัทยังคงยืนยันเจตนาเดิมคือ จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย แต่ก็เชื่อว่า จะสามารถนัดเจรจาหาข้อยุติอีกครั้งกับนายจ้าง ลูกจ้างได้ในวัน 14 มีนาคมนี้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปทุมธานี

อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการควบรวมกิจการของ บริษัท โตชิบา สตอเรจ ดีไวส์(ประเทศไทย) จำกัด หรือ ฟุจิซึกรุ๊ป เดิม กับบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ภายหลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ส่งผลให้คนงานบริษัท โตชิบา กว่า 4,000 คน ได้รับผลกระทบ โดยหลายคนกังวลว่าจะต้องถูกเลิกจ้างว่าในเวลา 15.00 น.วันนี้ตัวแทนทั้ง 2 บริษัทได้นัดชี้แจงกับคนงานที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี ซึ่งตนได้ส่งเจ้าหน้าที่จากกสร.ไปคอยสังเกตการณ์แล้ว

“เบื้องต้นผมได้รับรายงานว่าบริษัท เวสเทิร์นฯ ยืนยันจะไม่มีการเลิกจ้าง และรับเข้าทำงานต่อทั้งหมด จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น ยกเว้นคนงานบางคนที่อาจต้องการให้มีการเลิกจ้างเพื่อขอรับเงินชดเชยตามอายุการทำงาน เพราะมองว่าจะไม่ได้ประโยชน์จากการนับอายุงานต่อเนื่อง เพราะอายุงานเกิน 10 ปีไปแล้ว จึงต้องพูดคุยกับทางบริษัทต่อไปว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างหรือไม่” นายอาทิตย์ กล่าว

นายอาทิตย์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมี 163,712 คน จากสถานประกอบการ 283 แห่ง ที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน ซึ่งจากการตรวจสอบสถานประกอบการเหล่านี้ยังไม่ได้มีนโยบายเลิกจ้างคนงาน และยังคงจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 75 แต่สาเหตุที่ยังไม่ได้เปิดกิจการส่วนหนึ่งมาปัญหาในทางธุรกิจ รวมถึงความไม่มั่นใจในแผนป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล จึงซื้อเวลาเพื่อรอความชัดเจน อย่างไรก็ตาม การหยุดงานเป็นเวลานานโดยได้รับค่าจ้างเพียงร้อยละ 75 ทำให้แรงงานหลายคนเดือดร้อนเพราะรายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีพ

“ผมขอแนะนำให้ลูกจ้างที่นายจ้างยังไม่เปิดโรงงาน รีบสมัครเข้าโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนไปทำงานที่สถานประกอบการอื่นชั่วคราว ในระหว่างรอการเปิดงานของสถานประกอบการเดิม โดยไม่ต้องลาออก และไม่มีการถูกเลิกจ้าง อีกทั้งสามารถรับค่าจ้างได้ 2 ทาง ทั้งนี้ ปัจจุบัน โครงการนี้ยังคงมีความต้องการลูกจ้างกว่า 8 หมื่นอัตรา ในสถานประกอบการ 702 แห่งใน 44 จังหวัด” อธิบดี กสร.กล่าว

นายอาทิตย์ กล่าวด้วยว่า ส่วนยอดรวมตัวเลขแรงงานถูกเลิกจ้างล่าสุด มีสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างไปแล้วรวม 51,520 คน ในสถานประอบการ 136 แห่ง โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการเลิกจ้างมากที่สุด ถึง 32,116 คน รองลงมาคือ ปทุมธานี 18,706 คน

น.ส.สดศรี ทองมาก กรรมการสหภาพแรงงาน แรงงานฟูจิตสึ กรุ๊ป แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่บริษัทหยุดงานเนื่องจากน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 5 เดือนแล้ว ที่บริษัทจ่ายค่าจ้างให้ 100% โดยไม่ต้องทำงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทแจ้งว่าจะจ่ายค่าจ้างจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้เท่านั้น ทำให้คนงานกังวลถึงอนาคตซึ่งยังไม่มีความชัดเจน เพราะล่าสุด โรงงานซึ่งเคยถูกน้ำท่วม ได้ถูกโยกย้ายเครื่องจักรออกไปจนหมดแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น