xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐ! ทำแผนส่งเสริมสมุนไพร หวั่นสูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นักวิชาการ-สสส.ห่วงสมุนไพร 6 ชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ ขณะที่คนชนบทยังใช้แบบภูมิปัญญาดั้งเดิมถึง 78% แนะ สธ.-ทส.เร่งสำรวจจัดทำแผนที่สมุนไพรภายใน 3 ปี ช่วยรู้โรค รู้แหล่งยา ป้องกันสูญหาย-ถูกฉกทรัพยากรหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

วันนี้ (10 มี.ค.) ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) เครือข่ายสุขภาพวิถีไทย เครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 ภาค มูลนิธิสุขภาพไทย และแผนงานสร้างเสริมระบบสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนาวิชาการ “ร่วมอนุรักษ์และปลูกป่าสมุนไพรให้ยั่งยืนได้อย่างไร?” พร้อมจัดทอดผ้าป่าพันธุ์ไม้ “ปลูกยารักษาป่า” เพื่อสมทบทุนการปลูกป่าสมุนไพร 12 พื้นที่ในเครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 ภาค

โดยนางภัสรา ชวประดิษฐ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มส่งเสริมการผลิตพืชสมุนไพร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปี 2553 ของกรมส่งเสริมการเกษตร มีเกษตรที่ปลูกพืชสมุนไพร 11,192 ครัวเรือน มีเนื้อที่ปลูกพืชสมุนไพร รวม 47,890 ไร่ มีวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปสมุนไพรมีจำนวน 1,519 วิสาหกิจชุมชน มีการปลูกพืชสมุนไพร 53 ชนิด โดยพืชสมุนไพรที่มีการปลูกเชิงการค้า ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร บัวบก ว่านหางจระเข้ พริกไทย และ ไพล ซึ่งปัญหาของการปลูกสมุนไพร คือ ปริมาณอาจมากหรือน้อยเกินไป คุณภาพ และความปลอดภัย สมุนไพรป่า ที่ไม่มีการปลูก เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะมีการเก็บสมุนไพรไปใช้หรือขาย เช่น รากย่านาง รากคนทา รากมะเดื่อชุมพร รากชิงซี่ รากท้าวยายม่อม และอัคคีทวาร ซึ่งการปลูกพืชสมุนไพรมีข้อจำกัด เกษตรกรขยายพันธุ์ไม่เป็น ต้องใช้เวลาเพาะพันธุ์นาน และหลายชนิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

ดร.อุษา กลิ่นหอม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการคุ้มครองสมุนไพรในเขตป่าอนุรักษ์ ในพื้นที่ภูผากูด จ.มุกดาหาร และจ.มหาสารคาม พบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ชนบทบริโภคและใช้สมุนไพรมากถึง 78% เป็นการใช้เพื่อเยียวยา รักษาผ่านการปรึกษาหมอพื้นบ้าน และอาศัยภูมิปัญญาความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้สมุนไพรถูกใช้อย่างคุ้มค่าเฉพาะที่จำเป็น ส่วนในพื้นที่เขตเมือง ประชาชนนิยมบริโภคสมุนไพรแบบสำเร็จรูป เช่น ขมิ้นชัน มะรุม ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น และเป็นการใช้ตามกระแส โดยไม่ได้คำนึงว่าเหมาะสมกับสภาพหรือความจำเป็นต่อร่างกายหรือไม่ ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ถูกนำมาใช้มากเกินความจำเป็น สูญเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ และเสี่ยงต่อการถูกหลอก เพราะทรัพยากรที่เป็นสมุนไพรชนิดนั้นๆ มีไม่เพียงพอต้องนำของอื่นมาผสมแทน ซึ่งอาจอันตรายต่อสุขภาพ จึงควรส่งเสริมและให้ความรู้แก่คนไทย รู้จักการใช้สมุนไพรให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงมากกว่าการใช้ตามการถูกกระตุ้นของสื่อต่างๆ

“สิ่งสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการเพื่ออนุรักษ์สมุนไพรจากป่า คือ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรประสานความร่วมมือศึกษาและสำรวจแหล่งของสมุนไพรชนิดต่างๆ ว่ามีอยู่ในพื้นที่ใด มีสรรพคุณอย่างไร เพื่อจัดทำเป็นแผนที่สมุนไพรของประเทศไทยว่ามีสมุนไพรชนิดไหนอยู่ในภูมิภาคใด และควรส่งเสริมให้มีการปลูกอย่างไร ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางการอนุรักษ์และส่งเสริมสมุนไพร และควรดำเนินการให้ได้อย่างน้อย 50% ของทั้งประเทศภายใน 3 ปีนับจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกขโมยทรัพยากรของประเทศเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558” ดร.อุษา กล่าว

น.ส.พะยอม ดีน้อย เครือข่ายรักษ์ม่อนยาป่าแดด จ.เชียงราย กล่าวว่า การสนับสนุนให้ประชาชนในชุมชนหันมาเห็นความสำคัญ และสนใจการปลูกพืชสมุนไพร เริ่มจากหารือกับหมอพื้นบ้านในชุมชน เพื่อนำเรื่องเล่าหรือตำนานของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับม่อนยาหรือดอยเล็กที่มียาสมุนไพรมาเล่าให้ในชุมชนรับรู้ ทำให้ทุกคนเกิดความภาคภูมิใจในผืนป่าชุมชนที่มีคุณค่ามาตั้งแต่อดีต คนในชุมชนจึงร่วมมือร่วมใจเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ม่อนยาไว้ให้ลูกหลาน จนเกิดเป็นการจัดตั้งเครือข่ายรักษ์ม่อนยาที่มีชาวบ้านจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งเยาวชน สตรี และภาครัฐ เข้ามาร่วมกันทำงานปลูกป่าสมุนไพรและอนุรักษ์ ด้วยการตั้งกฎกติกาการใช้ประโยชน์จากม่อนยา ส่งผลให้สภาพป่าที่เคยแห้งแล้งกลับมารกครึ้มและมีต้นไม้ใหญ่ สมุนไพร ปัจจุบันชาวบ้านเห็นความสำคัญของป่าสมุนไพรมาก มีการระดมเงินทุนเพื่อขอซื้อที่ดินที่เคยเป็นป่าสมุนไพรคืนจากชาวบ้านที่เคยบุกรุก

นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสมุนไพรหลายชนิดมีความต้องการของตลาดอย่างมาก เช่น ขมิ้นชันใช้ทำยาแก้ท้องอืดเฟ้อและบรรเทาอาการโรคกระเพาะ แต่สมุนไพรเหล่านี้ยังสามารถส่งเสริมการปลูกเพิ่มขึ้นได้ง่าย ที่น่าห่วงและเป็นสิ่งที่ทางมูลนิธิฯ ทำงานกับเครือข่าย คือ การรวบรวมพันธุ์สมุนไพรจากป่าที่มีปริมาณการใช้สูงขึ้นเรือยๆ และเริ่มจะหายากขึ้นทุกวัน นำสมุนไพรเหล่านี้กลับมาปลูกในพื้นที่ป่าชุมชน ในเขตวัดป่า และในครัวเรือน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และขยายพันธุ์สมุนไพรให้เพียงพอต่อการใช้ และเป็นการฟื้นฟูป่าธรรมชาติ ขณะนี้ได้มีการจัดทำข้อมูลวิธีการการปลูกพืชจากป่า โดยมีเครือข่าย 12 พื้นที่นำร่องดำเนินการปลูกพืชเหล่านี้ ไม่น้อยกว่า 26,000 ต้น แยกชนิดได้มากกว่า 60 ชนิดสมุนไพรที่กำลังขาดแคลน
กำลังโหลดความคิดเห็น