“สุชาติ” เดินหน้านโยบายเพิ่มวุฒิการศึกษาให้คนไทยจบ ม.6 ตั้งเป้าดึงคนไทยที่ไม่ยังจบการศึกษาขั้นพื้นฐานกว่า 10 ล้านคน เข้าสู่ห้องเรียนเร่งรัดของ กศน.พร้อมรณรงค์คนไทย ด้าน กศน.พร้อมจัดหลักสูตร 8 เดือนจบ ม.6
วันนี้ (7 มี.ค.) ศ.ดร.สุชาติ ธาราธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวในระหว่างร่วมงาน“อนาคตการศึกษาไทย” ระหว่างวันที่ 6-7 มี.ค.2555 เพื่อเผยแพร่นโยบายการศึกษาของประเทศและการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และแสดงถึงศักยภาพของการจัดการศึกษาไทยในการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ว่า ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 นี้ ศธ.จะเดินหน้านโยบายให้คนไทยจบการศึกษาขั้นต่ำระดับมัธยม 6 (ม.6)ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยที่ยังไม่จบ ม.6 กว่า 10 ล้านคน
ขณะที่ประเทศไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่าประเทศต่างๆ และคนที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษ หรือ จีน ได้จะเป็นผู้ได้เปรียบ จึงต้องเร่งส่งเสริมให้คนไทยมีการศึกษาสูงขึ้น ทั้งนี้ ได้ให้ทางสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดหลักสูตรเรียนจบ ม.6 ภายใน 8 เดือน แต่ผู้ที่สามารถเข้าหลักสูตรนี้ได้นั้น จะต้องมีอายุเกิน 18 ปีขึ้นไปและต้องประกอบอาชีพอยู่ซึ่งสามารถนำความเชี่ยวชาญ ความรู้จากการประกอบอาชีพของตัวเองมาเทียบโอนได้ โดยจะให้ กศน.รับผู้ที่ยังไม่จบการศึกษาระดับ ม.ปลาย เข้าเรียนให้มากที่สุด
“มีแนวคิดที่จะจัดหาแท็บเล็ตให้กับนักศึกษา กศน.ด้วย มาเรียนให้จบ ม.6 ก็อาจจะมีโอกาสได้เรียนกับเครื่องแท็บเล็ตด้วย โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษนั้น เรียนกับแท็บเล็ตจะมีประสิทธิภาพขึ้น ขณะนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้อยู่ แต่ผมขอรณรงค์ให้คนไทย ภาคเอกชน ร่วมบริจาคแท็บเล็ตให้กับทั้งนักเรียนในระบบ และนักศึกษาของ กศน.ด้วย ใช้งบ CSR มาบริจาคซึ่ง ศธ.จะไปคิดมาตรการจูงใจในการบริจาค เช่น อาจเป็นมาตรการลดหย่อนภาษี แต่ยังไม่ได้คิดว่า จะให้บริจาคเป็นตัวเงินหรือสิ่งของ” รมว.ศธ.กล่าว
ด้านนายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า กศน.จึงได้เปิดหลักสูตรเร่งรัด 8 เดือน จบ ม.6 ขึ้น หลักสูตรมีทั้งหมด 23 หน่วยกิต 8 วิชา คือ คอมพิวเตอร์, คณิตศาสตร์ธรรมชาติ หลักการซื้อขายแลกเปลี่ยน-กู้ยืม, วิชาการผลิต การตลาด การบริโภค นำไปสู่ชุมชน SME, วิชาระบอบประชาธิปไตย, วิชาการบริหารจัดการชุมชน หรือองค์กรเข้มแข็ง, วิชาการวิจัยชุมชนและวิชาการจัดการอาหารเพื่อครอบครัว ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิเรียนหลักสูตร 8 เดือนนี้ จะต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และมีอาชีพการทำงานเป็นหลักแหล่งและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันความชำนาญในงาน โดย กศน.จะจัดให้มีการเทียบโอนความรู้ และประสบการณ์จากการประกอบอาชีพ ส่วนที่เหลือจากการเทียบโอนให้เรียนเพิ่มเติมโดยวางแผนการเรียนให้เป็นรายบุคคล ผู้เรียนสามารถเข้ารับการทดสอบหรือการประเมินได้ตามความพร้อม เมื่อผ่านการทดสอบครบทุกวิชา ก็ได้ประกาศนียบัตรจาก กศน.ซึ่งผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะรัฐบาลออกค่าเรียนให้หัวละ 3,000 บาทแล้ว อย่างไรก็ตาม หลักสูตรดังกล่าวของ กศน.นั้น ไม่ได้เน้นเรียนเพื่อศึกษาต่อ แต่เน้นเรียนไปอยู่ในสังคมได้ ประกอบอาชีพได้ เนื้อหาวิชาจึงแตกต่างจากหลักสูตรปกติ แต่ กศน.กำลังหาระเบียบต่างๆ มารองรับ เพื่อให้ผู้จบหลักสูตรนี้ สามามารถเรียนต่อมหาวิทยาลัย หรือเรียนต่อต่างประเทศได้
“นอกจากนั้น กศน.ยังปรับระบบการเทียบระดับการศึกษา ด้วยจากเดิมที่เคยให้มีนำผลการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอาชีพ การทำงาน มาเทียบโอนระดับการศึกษาได้ทีละช่วงชั้น คือ ประถมศึกษา มัธยมต้น และมัธยมปลาย อย่างไรก็ตาม นโยบายของพรรคเพื่อไทย ต้องการให้เทียบโอนรวดเดียวจบ ม.6 เลย เพราะฉะนั้น กศน.จะเปิดให้ประชาชนที่อายุ 20 ปีขึ้นไป และไม่เป็นนักเรียนในระบบ มาสมัครขอรับการประเมินเทียบระดับการศึกษารวดเดียวถึงมัธยมปลายได้ ซึ่ง กศน.จะจัดให้มีการประเมินเทียบระดับการศึกษาปีละ 4 ครั้ง จากเดิมปีละ 1 ครั้ง” นายประเสริฐ กล่าว