สธ.-สสส.-HITAP จัดประชุมและเชิญผู้เชี่ยวชาญจากแคนาดา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และองค์การอนามัยโลก ถกเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรคเด็ก 0-5 ปี พบป่วยปัญหาทั้งกายและใจ สูญค่าใช้จ่ายกว่าหมื่นล้านต่อปี เตรียมยื่นข้อเสนอเพื่ออนาคตเด็กไทย ป้องกัน ท้องไม่พร้อม-ผิดปกติแต่กำเนิด-ไอคิวต่ำ-โภชนาการพร่อง+เกิน-การเห็น+ได้ยิน เพื่อเป็นโจทย์แก่รัฐบาลและสอดรับกับนโยบายกองทุนพัฒนาสตรี
วันนี้ (28 ก.พ.) เวลา 09.00 น. ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดการประชุมนานาชาติ การพัฒนานโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในกลุ่มเด็กอายุ 0-5 ปี ในประเทศไทย ที่ห้องกมลทิพย์ บอลรูม โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพมหานคร จัดโดย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โครงการพัฒนาการดำเนินการจัดทำเครื่องชี้วัดภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทย (BOD) โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)และสำนักงานกองทุนสนับสุนนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ประเทศไทยมีกลุ่มเด็กช่วงอายุ 0-5 ปี ทั้งสิ้น 4.8 ล้านคน ข้อมูลโครงการศึกษาภาระโรคในประเทศไทยปี 2552 พบภาระโรค 3 อันดับแรกของเด็ก คือ 1.ทารกน้ำหนักตัวน้อย 2.ทารกได้รับอันตรายระหว่างคลอด และ3.โรคความผิดปกติของหัวใจ ซึ่งหากปล่อยปละละเลยการดูแลจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี นับเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องแก้ไขด่วน
“เด็กและเยาวชน เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ โดยเฉพาะเด็กในช่วงปฐมวัย 0-5 ปี เพราะในอนาคตเด็กเล็กจะเกี่ยวข้องกับหลายส่วน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีองค์ความรู้ ที่จะนำไปสู่นโยบายที่สามารถนำไปดูแลในอนาคต ในวันนี้ข้อเสนอ 6 ข้อ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสุขภาวะของเด็กไทย 6 เรื่อง ที่สำคัญ ได้แก่ 1.การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม จากมารดาที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี ทำให้เกิดการแท้ง และทารกตายในครรภ์ 2.ภาวะความผิดปกติแต่กำเนิด (ได้แก่ กลุ่มอาการดาวน์ ธาลัสซีเมีย และภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน) 3.พัฒนาการผิดปกติ ในเรื่องของไอคิวในเด็กต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 4.ภาวะพร่องโภชนาการและภาวะโภชนาการเกิน อันเป็นสาเหตุของภาวะเด็กน้ำหนักน้อยและส่วนสูงต่ำกว่ามาตรฐาน 5.ภาวะผิดปกติทางสายตาและการได้ยิน 6.การขาดคุณภาพของศูนย์พัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เชื่อได้ว่า จะเกิดเป็นแนวทางขับเคลื่อน สร้างช่องทางและวิธีการทำงานในแบบใหม่จากทุกฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” ทพ.กฤษดา กล่าว
ด้าน ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กล่าวว่า โครงการ “อนาคตไทย” เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กอายุ 0-5 ปี เป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ จะเริ่มดูแลกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็กเล็กเป็นต้นไป จากข้อบ่งชี้แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยมีคุณภาพต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และปัญหานี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น อาทิ ปัญหาด้านการศึกษา สุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น การที่จะดูแลสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างได้ผล ต้องดูในภาพรวม เพื่อจะสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กกลุ่มอายุ 0-5 ปี อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป