xs
xsm
sm
md
lg

ทารกเสียชีวิตกว่า 3 พันรายต่อปี สธ.เร่งพัฒนารพ.ศูนย์ 9 แห่งลดการตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.สาธารณาสุข เผย เด็กทารกเสียชีวิตภายใน 28 วันหลังเกิดปีละกว่า 3,000 รายเฉลี่ย 4.1 คนต่อทารกแรกเกิด 1 พันคนเหตุ ส่วนใหญ่จากปัญหาน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนด เร่งลดตาย โดยพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ 9 แห่งในต่างจังหวัด เป็นศูนย์เชี่ยวชาญดูแลรักษาทารกแรกเกิด มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือผ่าตัด เครื่องช่วยหายใจสำหรับเด็กโดยเฉพาะ

วันนี้ (25 ก.พ.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดตึกผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ที่โรงพยาบาลสีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นอาคารผู้ป่วย รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ ที่ได้รับบริจาคจากประชาชน รวมมูลค่า 16 ล้านบาท

นายวิทยา กล่าวว่า สธ.กำลังเร่งแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตของเด็กทารกแรกเกิด โดยพบเด็กทารกเสียชีวิตภายใน 28 วันหลังคลอดปีละกว่า 3,000 ราย หรือพบได้เฉลี่ย 4.1 คนต่อทารกแรกเกิด 1,000 คน อัตราตายสูงสุดที่ภาคใต้ 4.7 คนต่อทารกแรกเกิด 1,000 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเด็กมีน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนด ซึ่งการดูแลเด็กเหล่านี้จะต้องใช้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์เครื่องมือ แพทย์เป็นการเฉพาะ เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือได้ อย่างทันท่วงที โดยที่ผ่านมา ศูนย์เชี่ยวชาญด้านเด็กส่วนใหญ่ จะอยู่ในโรงเรียนแพทย์ใน กทม. และจังหวัดใหญ่ๆ ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึง
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ดังนั้น สธ.จึงมีนโยบายเร่งพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ของ สธ.ที่อยู่ในภูมิภาค ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด (New Born Center) มีบุคลากรเชี่ยวชาญดูแลรักษาทั้งแพทย์ พยาบาล และเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ครบครัน อีกทั้งตามแผนการพัฒนาโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ให้มีขีดความสามารถในการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วย ลดการเสียชีวิตประชาชน จึงมีนโยบายจะกระจายบริการดังกล่าวให้ประชาชนในต่าง จังหวัดได้รับบริการที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด ไม่ต้องเดินทางไปรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ไกลๆ โดยพัฒนาให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญระดับสูง 4 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาโรคมะเร็ง สาขาอุบัติเหตุ สาขาโรคหัวใจและหลอดเลือด และสาขาทารกแรกเกิด

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ตามแผนการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านทารกแรกเกิดนั้น ได้แบ่งเป็น 3 ระดับบริการเป็นเครือข่ายในภูมิภาค เป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจากจังหวัดต่างๆ โดยระดับ 1 จะต้องมีศักยภาพสามารถผ่าตัดหัวใจ สมองเด็กแรกเกิด ที่มีอาการผิดปกติได้ มีทั้งหมด 9 แห่ง ภาคเหนือที่ รพ.ลำปาง และ รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก ภาคกลางที่ รพ.สระบุรี รพ.ราชบุรี ภาค ตะวันออกที่ รพ.ชลบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ รพ.มหาราช จ.นครราชสีมา และ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ภาคใต้ที่ รพ.สุราษฎร์ธานี และ รพ.หาดใหญ่ ซึ่งโรงพยาบาลดังกล่าวเป็นศูนย์ผลิตแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อยู่แล้ว

ระดับ 2 สามารถผ่าตัดทั่วไปได้ยกเว้นผ่าตัดหัวใจและสมอง และสามารถดูแลรักษาเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนัก ตัวน้อยหรือคลอดก่อนกำหนดได้ มี 18 แห่งครอบคลุมทุกภาค ภาคละประมาณ 3 แห่ง และระดับ 3 มีขีดความ สามารถให้การรักษาเด็กแรกเกิดที่มีปัญหาการหายใจล้มเหลว และต้องการเครื่องช่วยหายใจชนิดความถี่สูงเฉพาะเด็กแรกเกิด มีแพทย์เฉพาะทางและพยาบาลที่มีประสบการณ์ความชำนาญการด้านการดูแลรักษาเด็ก แรกเกิด มีจักษุแพทย์สามารถตรวจจอประสาทตาเด็กแรกเกิดที่มีปัญหา มีทั้งหมด 86 แห่ง ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายดำเนินการให้เปิดดำเนินการได้ร้อยละ 50 ของเป้าหมายภายในปี 2557
กำลังโหลดความคิดเห็น