xs
xsm
sm
md
lg

นายจ้าง-ลูกจ้าง จับมือ หนุนออก กม.ห้ามดื่มเหล้าในโรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
แรงงานไทยจับมือนายจ้าง  หนุนออกกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มเหล้าในโรงงาน 24 ชั่วโมง ชี้ ผลสำรวจนายจ้างลูกจ้าง เกิน 95% เห็นด้วย  ฝั่งนายจ้าง 18.52% เชื่อ มีเลิกจ้างจากเมาทะเลาะวิวาท  เผย ผู้ใช้แรงงานสังเวยชีวิตด้วยน้ำเมา 4 หมื่นคนต่อปี ด้าน “หมอสมาน” มั่นใจกฎหมายไม่สะดุด ผ่าน คกก.นโยบายฯ แน่
           

วันนี้ (24 ก.พ.) ที่โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ   มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)  และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมจัดเสวนานโยบายโรงงานสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า  พร้อมเดินหน้า ผลักดันร่างกฎหมายห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. ....เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกจ้างและผู้ประกอบการ  ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการ  และลูกจ้าง กว่า 100 คนเข้าร่วม

นายสุชาติ   ตระกูลหูทิพย์  หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  กล่าวว่า  ระหว่างวันที่ 16-20 ก.พ.2555 ทางมูลนิธิได้สำรวจความคิดเห็นลูกจ้างและนายจ้าง ในประเด็นผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และความคิด เห็นต่อร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง “ห้ามขาย หรือห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. ...” จากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 948 ราย แบ่งเป็น ลูกจ้าง  900 ราย และนายจ้าง 48 ราย ทั้งหมด 30 โรงงาน จากพื้นที่จังหวัดลำพูน  นนทบุรี  สมุทรสาคร นครปฐม พบว่า  ลูกจ้าง  95.78% เห็นด้วยกับร่างประกาศฯ ฉบับดังกล่าว ขณะที่ นายจ้างเห็นด้วย 100%  เชื่อ จะช่วยลดปัญหาการดื่มเหล้าของคนงานในโรงงานได้ 

นายสุชาติ   กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากการดื่มเหล้ามีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เห็นได้จากข้อมูลที่กลุ่มลูกจ้าง ระบุว่า กระทบต่อเศรษฐกิจและสุขภาพมากเป็นลำดับแรกคิดเป็น 19.47% ตามด้วยการทำให้เกิดอุบัติเหตุ 18.44% เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 18.05% ต้องถูกนายจ้างให้ใบเตือน 12.69% และถูกให้ออกจากงาน 13.39% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มนายจ้าง ยืนยันว่า การที่ลูกจ้างดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ผลผลิตแย่ลงเป็นลำดับแรกคิดเป็น 29.01% ตามด้วยชิ้นงานที่ขาดคุณภาพ 21.16%  ต้องสูญเสียพนักงานเพราะอุบัติเหตุ 25.31% และปัญหาการถูกเลิกจ้างเพราะเมาทะเลาะวิวาท 18.52% 
 
“จากผลสำรวจดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ผลเสียที่เกิดขึ้นมีทั้งต่อตัวลูกจ้างและนายจ้าง เพราะค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียหายจากอุบัติเหตุ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ การทำงานขาดประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ยังมีผลวิจัยด้านนโยบายสุขภาพที่พบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลเสียทางเศรษฐกิจเกือบ 200,000 ล้านบาท  และสถิติกลุ่มแรงงานที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะดื่มแอลกอฮอล์มีมากถึง 40,000 คน ส่วนใหญ่อายุ 30-44 ปี รองลงมา 15-29 ปี ซึ่งผู้ที่ดื่ม หรือเคยดื่มจะขาดงาน เพราะปัญหาสุขภาพ ประสิทธิภาพขณะทำงาน  ลดลงกว่าผู้ไม่ดื่ม 1.7-5.7% ดังนั้น หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน  ปัญหาต่างๆ คงดีขึ้นโดยลำดับ” นายสุชาติ กล่าว

นพ.สมาน  ฟูตระกูล  ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  กล่าวว่า   ร่างกฎหมายฉบับนี้ เชื่อว่า จะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีลงนามเพื่อบังคับใช้ เนื่องจากทุกภาคส่วนเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฯฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ  ที่ต้องการให้มีกฎหมายบังคับใช้ในสถานประกอบการ และจะส่งผลดีต่อลูกจ้าง ในด้านต่างๆ สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้จะใช้อำนาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 27(8) และมาตรา 31(7) ของพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยเนื้อหาของร่างกฎหมายระบุว่า ห้ามขายห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน
 

“เชื่อว่า ในภาพรวมแล้ว ร่างกฎหมายจะผ่านไปได้ด้วยดี   ยกเว้นกลุ่มบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น ที่จะไม่เห็นด้วยกับร่างฯดังกล่าว ดังนั้น ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ต้องช่วยกันขับเคลื่อนผลักดันให้ทุกฝ่ายเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นที่ต้องการของคนไทย  ส่วนนักวิชาการต้องมีหน้าที่ชี้ผลกระทบที่เกิดจากแอลกอฮอล์ให้สังคมได้รับรู้  ซึ่งถ้าทุกอย่างในสถานประกอบการดีขึ้น จะส่งผลทำให้ศักยภาพการทำงานดีข้นตามไปด้วย” นพ.สมาน  กล่าว
 

ด้าน นายบุญมี จิตรใจ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยางโอตานิ จำกัด จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ก่อนที่บริษัทยังไม่เข้าร่วมโครงการลด ละ เลิกเหล้า ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงงานเป็นประจำ คือ ลูกจ้างส่งเสียงดังรบกวนพนักงานคนอื่น บางครั้งมีการชกต่อยกันในโรงงาน คุณภาพในการทำงานลดลง มีการลาพักงานมากขึ้น และเป็นประจำที่คนงานมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ดังนั้น ข้อดีของร่างกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มเหล้าในโรงงานฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการและคนงานทั่วประเทศหากมีการนำมาบังคับใช้  และไม่ต้องมานั่งเถียงกันต่อไปว่าจะมีหรือไม่มีเหล้าในกิจกรรมที่ต้องจัดในโรงงาน  เพราะถ้าใครทำก็จะผิดกฎหมายทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น