ฟื้นงานบุญข้าวใหม่ “เผาข้าวหลามชากบก” ก่อนสูญหาย
โดย...สุกัญญา แสงงาม
ว่ากันว่า วันนี้ ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นหลายแห่ง เริ่มสูญหายไปจากท้องถิ่น หรือชุมชน ทำให้เด็ก และเยาวชน คนรุ่นหลัง ไม่มีโอกาสสัมผัสประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่สืบทอดกันมายาวนาน..
นายนาค ระยอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชากบก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง บอกว่า ชาวบ้านชากบก หวั่นว่า “งานทำบุญข้าวใหม่เดือนสาม เผาข้าวหลามชากบก” จะสูญหายไป ชาวชากบก ร่วมกับ อบต.และ อบจ.และกระทรวงวัฒนธรรม รวมพลังกันพลิกฟื้นประเพณีนี้ โดยเชิญนางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มาตัดริบบิ้นต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นายนาค เผยความรู้สึกแทนชาวชากบก พร้อมอธิบายที่มางานทำบุญข้าวใหม่เดือนสาม เผาข้าวหลามชากบก ว่า เป็นประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่ทำสืบทอดกันมากว่า 100 ปี แต่เริ่มจางหายไปกว่า 20 ปี เพิ่มมารื้อฟื้นได้ 3-4 ปี โดยกิจกรรมการเผาข้าวหลามเดือนสาม และทำบุญข้าวใหม่ของคนในพื้นที่ ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การทำนา ทำสวน ทำไร่ ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้มีความเชื่อกันว่าผลผลิตทางการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หมายถึงเจ้าที่ เจ้าทุ่ง เจ้าท่า เจ้าป่า เจ้าเขา และพระแม่โพสพคอยปกป้อง พืชพันธุ์ธัญญาหาร ไม่ให้ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ตลอดจนศัตรูพืชทั้งหลาย ทว่าปัจจุบันประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นค่อย ๆ เลือนหายไปจากท้องถิ่น คนรุ่นหลัง เด็กและเยาวชน ไม่ทราบ ไม่ได้สัมผัสในประเพณีวัฒนธรรมนี้
“ผมมองว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้สัมผัสประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น อาจเป็นเพราะหลายคนไม่ได้สานต่อการทำนาต่อจากคนรุ่นปู่ย่าตายาย พ่อแม่ แต่หันไปประกอบอาชีพรับราชการ ลูกจ้าง และอื่นๆ อย่างไรก็ดี อบต.ชากบก ได้บูรณาการกิจกรรมการเผาข้าวหลามเดือนสามและการทำบุญข้าวใหม่ของคนในพื้นที่ จัดทำโครงการ โดยใช้ชื่อว่า “ประเพณีทำบุญข้าวใหม่เดือนสาม เผาข้าวหลามชากบก” ขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในอดีตไม่ให้สูญหายไปในสังคมไทย ให้คนรุ่นหลัง เด็กและเยาวชน ได้เห็น ได้ทราบถึงที่มาที่ไป ทราบถึงคุณค่าในวัฒนธรรมท้องถิ่น และร่วมกันอนุรักษ์สืบสานให้คงอยู่คู่ชุมชนต่อไป รวมทั้งเป็นการเชื่อม ประสานความรักความสามัคคีของคนในท้องถิ่นและจะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำไปสู่การช่วยกันอนุรักษ์ สืบสานประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของประเทศไทยไม่ให้สูญหายและคงอยู่กับสังคมไทยตลอดไป”
การจัดงานทำบุญข้าวใหม่เดือนสาม เผาข้าวหลามชากบก เริ่มฟื้นฟูตั้งแต่ 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลชากบก ร่วมกิจกรรมเผาข้าวหลามแบบโบราณ ซึ่งเป็นการเผาโดยปักก้นกระบอกลงในพื้นดินเรียงเถวที่เตรียมไว้แล้วใช้ไม้ฟืนเรียงขนานสองข้างและทำการเผาข้าวหลามโดยใช้ระยะเวลาการเผาหลามประมาณ 3-4 ชั่วโมง ตามแต่ขนาดของกระบอก เพราะการเผาแบบโบราณจะได้ข้าวหลามที่รสชาติหวานหอมอร่อยกว่าการเผาแบบสมัยใหม่ที่กระบอกไม่ฝังดิน หรือเผาด้วยแก๊ส
เมื่อเผาข้าวหลามเสร็จ ในช่วงเย็นจะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์เย็นและพิธีทำขวัญข้าวซึ่งเป็นข้าวเปลือกที่ชาวบ้านร่วมกันนำมาทำพิธี หลังจากเสร็จพิธีการทำขวัญข้าวจะมีการละเล่นพื้นเมืองและชมมหรสพ วันรุ่งขึ้นชาวบ้านจะนำอาหารและข้าวหลามมาทำบุญ เชื่อว่าเป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์ โดยนำข้าวปลาอาหาร ขนม และย้ำใส่ในกาบหมาก โดยสมมติว่าเป็นเรือ หลังจากพระฉันภัตตาหาร และสวดมนต์แล้ว ก็นำกากหมากออกไปทิ้งไว้ข้างทางเพื่อให้ผีไม่มีญาติได้กินกัน
...การฟื้นประเพณีนี้ ปลุกให้ชาวบ้านซึ่งตามปกติจะต่างคนต่างประกอบอาชีพของตนเอง ไม่ค่อยได้มาพบปะเจอะเจอกัน มารวมตัวกันนำข้าวใหม่ ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวคนละนิดละหน่อยมาเข้าร่วมทำพิธีขวัญข้าว และมาทำเป็นข้าวหลาม ส่วนขั้นตอนการทำข้าวหลามเป็นกุศโลบายให้ชาวบ้านสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมสืบทอดการเผาแบบดั้งเดิมไม่ให้สูญหายไป