xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประตูสู่วัฒนธรรมอาเซียน รู้เขารู้เรา.....ที่ “มาเลเซีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย..สุกัญญา แสงงาม

ในปี 2558 ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราจึงไม่อาจปฏิเสธการเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนบ้านได้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดโครงการค่ายเยาวชน ส่งเสริมการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน โดยคัดเลือกตัวแทนนักเรียน 20 คนในจ.สงขลา ไปทัศนศึกษามาเลเซีย
 
วัดไทยในมาเลย์
นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม บอกว่า การเดินทางครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้เด็กรุ่นใหม่ร่วมทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ ควบคู่กับการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน นับเป็นการเปิดโลกกว้างและจุดเริ่มต้นการเตรียมความพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคต

นอกจากนี้ วธ. มีโครงการสานความสัมพันธ์ผ่านมิติทางด้านวัฒนธรรมระหว่างอาเซียนอย่างต่อเนื่อง สำหรับมาเลเซียได้วางแนวทางในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวผ่านเส้นทางวัฒนธรรมศรีวิชัย ไชยา - นครศรีธรรมราช-สทิงพระ-ยะรัง และ เคดาห์ ในประเทศมาเลเซีย เป็นเส้นทางการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เช่น การเปิดเส้นทางท่องเที่ยวศาสนสถานไทย-มาเลเซีย เยี่ยม วัด หรือ มัสยิด การเรียนรู้งานด้านการแสดงศิลปะในสาขาต่างๆ และปีนี้มีแผนจัดกิจกรรมให้เยาวชนอาเซียนลุ่มน้ำโขง อาทิ กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วย

สำหรับการทัศนศึกษาวัฒนธรรมมาเลเซียของเด็กๆ เที่ยวนี้ได้ไปเยี่ยมชมทั้งพิพิธภัณฑ์ข้าว พิพิธภัณฑ์ปีนัง วัดไชยมังคลาราม มัสยิด อาคารสุลต่านอับดุล ซาหมัด ฯลฯ ซึ่งเด็กๆ ได้กลับมาถ่ายทอดมิติวัฒนธรรมผ่านด้านวรรณศิลป์ไว้อย่างน่าสนใจ

เริ่มจากน.ส. ศิรินภา ธรรมโร หรือ น้องดรีม นักเรียน ชั้น ม.6 โรงเรียนธรรมโฆษิต ฉายภาพวัฒนธรรมมาเลย์ ให้ฟังว่า ชาวมาเลย์ค่อนข้างมีระเบียบวินัย สังเกตจากระบบการจราจร ขับรถจะไม่ค่อยมีการขับแซงซ้ายแซงขวา ส่วนการเข้ามัสยิด จะแต่งกายสุภาพและมิดชิด ซึ่งผู้หญิงจะใส่ชุดที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์พื้นเมืองและสีสันฉูดฉาดกว่าของมุสลิมไทยในภาคใต้ ส่วนวัดไทยในมาเลย์ ถ้ามองด้านสถาปัตยกรรม ลวดลายต่างๆ จะงดงามน้อยกว่าของไทย อาจเป็นเพราะชาวมาเลย์ส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม

ส่วนที่ชื่นชอบแล้วรู้สึกประทับใจ ก็คือพิพิธภัณฑ์ข้าว เขาถ่ายทอดวิถีชีวิตเกษตรกรผ่านภาพวาด ใส่ไฮเทคโนยีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ทำให้เราเห็นภาพการดำเนินชีวิตของชาวนา วิธีการปลูกข้าวตั้งแต่หว่านข้าวจนถึงเก็บเกี่ยว รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก ไว้เป็นอาหาร

ต้องบอกว่าตื่นตาตื่นใจมากกับการนำเสนอชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร เพียงแค่เรานั่งอยู่ตรงเก้าอี้ที่เขาจัดไว้ จะหมุนไปเรื่อยๆ โดยจะมีภาพวาดผสมผสานกับจำลองของจริง แล้วบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ”น้องดรีม บอกว่า ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้แก่ประชาคมโลก อยากให้บ้านเราทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิตสไตล์นี้บ้าง "

ด้านนายคมกฤษณ์ จิระพันธ์ นักเรียน ชั้น ม.5 โรงเรียนวรนารีเฉลิม จ.สงขลา บอกว่า มามาเลยเซีย 3 ครั้งแล้ว ภาพรวมไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก มีการสร้างตึกเพิ่มขึ้นนิดหน่อย ซึ่งการออกแบบตึก สถาปัตย์ กลมกลืน กลับตึกเดิม แตกต่างจากบ้านเรา ย่านแหล่งวัฒนธรรมยังไม่มีการออกแบบให้กลมกลืนกับสถาปัตย์ดั่งเดิม จะเห็นแบบไทย ยุโรป ตึกสูง บ้านจัดสรร

ส่วนพิพิธภัณฑ์ข้าว เขาเก็บรายละเอียดด้านเกษตรไว้อย่างลงตัว ซึ่งเมืองไทยก็เป็นเมืองเกษตรที่มีความหลากหลายกว่า ควรมีสถานที่จัดแสดงการเกษตรไว้ที่กรุงเทพฯ โดยแบ่งออกเป็น 4 ภาค เนื่องจากบ้านเรามีการทำเกษตรเยอะมาก ปลูกข้าว ยางพารา ประมง และอื่นๆ เชื่อว่าเมืองไทย จะช่วยดึงดูดชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้ามาศึกษาวัฒนธรรมเกษตรแล้วเป็นห้องเรียนของประเทศให้นักเรียน นักศึกษา ได้ศึกษาด้วย สำหรับอาหารซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมการกิน ผมได้ทานอาหารพื้นเมืองหลายอย่าง ส่วนใหญ่รสชาติจะจืดกว่าของไทยที่รสเข้มข้นจัดจ้าน

...นี่คือเสียงสะท้อนของเยาวชน เปรียบเสมือนกระจกส่องวัฒนธรรมอาเซียน

สถาปัตยกรรมสมัยใหม่และดั้งเดิมที่ผ่านการออกแบบอย่างกลมกลืนลงตัว
 พิพิธภัณฑ์เครื่องแต่งกายมาเลย์
กำลังโหลดความคิดเห็น