xs
xsm
sm
md
lg

ค่ายสิ่งแวดล้อมที่‘ปากบารา’กับปฏิบัติการเด็กรักษ์บ้านเกิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฐานปูทหาร
ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
ฐานฟอสซิล
5 โมงเย็น ของวันที่ 6 มกราคม 2555 บริเวณจุดชมวิวลาน 18 ล้านปากบารา คราคร่ำไปด้วยผู้คนที่มาผักผ่อนหย่อนใจ ขณะอาทิตย์อัศดงลับเหลี่ยมเกาะเขาใหญ่ส่องประกายแดดสุดท้ายบรรจบกับท้องทะเล

เด็กกลุ่มหนึ่งกำลังสนุกอยู่กับการเล่นน้ำ ขุด ก่อกองทราย ไล่จับปูลม ที่ชายหาด ส่วนเด็กอีกกลุ่มหนึ่งเล่นฟุตบอล และวิ่งไล่กันริมป้ายงานวันเด็กแห่งชาติ 14 มกราคม 2555 ขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ติดประกาศเชิญชวนเด็กๆ ร่วมกิจกรรม

ขณะเดียวกันที่โรงเรียนบ้านตะโละใส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ชาวบ้านจำนวนหนึ่งกำลังชุลมุนวุ่นอยู่กับการกางเต็นท์ จัดเตรียมสถานที่ ข้าวปลาอาหาร และลงทะเบียนเพื่อรองรับเด็กที่จะมาเข้าค่าย โดยมีผู้ปกครองขับรถจักรยานยนต์นำเด็กๆ นั่งซ้อนท้ายหอบหิ้วสัมภาระ ข้าวสารมาคนละถุง สองถุง อยู่ตลอดเวลา

“รับเด็กเข้าค่ายอีกหรือเปล่า?” เป็นคำถามจากแม่ของเด็กคนหนึ่งต่อชาวบ้านที่ร่วมกันจัดค่าย ขณะที่สะพายกระเป๋ามาด้วยแล้ว

ชาวบ้านคนหนึ่งวิ่งไปถามชาวบ้านอีกคน หันหน้ามองกันเชิงจะหยั่งถามว่าจะรับเด็กคนนี้หรือไม่ ก่อนจะพยักหน้ารับ

ทว่าหลังจากนั้นกลับมีคำถามซ้ำๆ “ยังรับเด็กเข้าค่ายอีกหรือเปล่า?” จากพ่อแม่ที่ที่พาเด็กมาร่วมเข้าค่าย ท้ายสุดก็จำยอมรับเด็กร่วมกิจกรรมทุกคน

“เฮ้ เตรียม เฮ้ๆๆๆ เตรียมๆๆๆ”

“เตรียม เฮ้ เตรียมๆๆๆ เฮ้ๆๆๆ”

“ปฏิบัติการเด็กรักษ์บ้านเกิด เฮ้”

เป็นเสียงประสานของเด็กๆ ในหอประชุมภายใต้การนำของ “มังฟู” นายสุไลมาน บือราเฮง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ฝึกงานกับมูลนิธิอันดามัน ถูกมอบหมายให้ทำงานในพื้นที่จังหวัดสตูล กำลังทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ พลางชะเง้อเฝ้ารอคณะเพื่อนนักศึกษาที่จะตามมาสมทบแบ่งเบาภาระการจับปูใส่กระด้ง

กระทั่ง 16.30 น. รถสองแถวคันสีส้มซึ่งยัดนักศึกษา 20 คนไว้จนแน่นเอี้ยดก็มาถึง ท่ามกลางการโล่งอกของชาวบ้านและตัว “มังฟู” เอง ที่จะมีเพื่อนมาช่วยแบ่งเบาภาระดูแลเด็กกว่า 140 คน อันหนักอึ้ง

พวกเธอและเขาเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่รวมตัวในนามเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ ที่เดินสายทำกิจกรรมกับชุมชนต่างๆ ในหลายพื้นที่จังหวัด

เท่านั้นแหละ เพลงเธอวันนี้ ที่เด็กๆ และกลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นพี่เลี้ยง ร้องประสานเสียงก็ดังลั่นหอประชุม “เธอคือมวลพลังผู้กล้าและแกร่ง เธอร้อนแรงเช่นแสงตะวัน....มองดูรอบกาย มองดูรอบกาย มองดูสังคม สังคมโสมม เธอสุขอยู่ได้อย่างไร เมื่อผองชนทุกข์ยากลำเค็ญ...”

ครู่ต่อมาเด็กๆ จึงได้กินข้าว ตามด้วยการแสดงดนตรีจากวง“กัวลาบารา” ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ทำงานอยู่ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ก่อนปล่อยให้ไปนอนในเต็นท์และห้องเรียนที่เตรียมไว้

“มังฟู” บอกกับคณะเพื่อนนักศึกษาว่า สาเหตุที่ตนเชิญชวนคณะนักศึกษามาทำค่ายสิ่งแวดล้อมที่จังหวัดสตูล ก็เพราะจังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่แผนพัฒนาขนาดใหญ่จากรัฐจ่อลงพื้นที่หลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่มีการผลักดันจากรัฐ และเอกชนอย่างหนัก

“ผมอยากให้พวกเราทุกคนช่วยกันปลูกจิตสำนึกเด็กที่นี่ ให้พวกเขารู้สึกหวงแหนรักษ์บ้านเกิด ภูมิใจในวิถีชีวิตของตัวเอง ตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม” มังฟู บอกถึงจุดประสงค์อย่างตรงไปตรงมา

สำหรับค่ายเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งที่ 1 ปฏิบัติการเด็กรักษ์บ้านเกิด เป็นการจัดขึ้นโดยกลุ่มชุมชนคนรักษ์ถิ่น และเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ ในระหว่างวันที่ 6 - 8 มกราคม 2555 ที่โรงเรียนบ้านตะโละใส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยใช้งบประมาณจำนวน 3 หมื่นบาท จากมูลนิธิอันดามัน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และผู้ปกครองของเด็กเอง

เช้าตรู่ของอีกวัน หลังจากเสียงอาซานจากมัสยิดจบลงสักชั่วระยะหนึ่ง อาณาบริเวณบ้านตะโละใส บ้านปากบารา บ้านท่ามาลัย ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ก็ดังสนั่นด้วยเสียงประสานของเด็กๆ อีกครั้ง

“เฮ้ เตรียม เฮ้ๆๆๆ เตรียมๆๆๆ”

“เตรียม เฮ้ เตรียมๆๆๆ เฮ้ๆๆๆ”

“ปฏิบัติการเด็กรักษ์บ้านเกิด เฮ้” ขณะออกกำลังกายในตอนรุ่งสาง หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการละหมาดซุบฮิ์ ท่ามกลางการออกมามุงดูจากชาวบ้านอย่างสนใจ

09.30 น. ที่หอประชุมโรงเรียนบ้านตะโละใส เด็กในเสื้อสีเขียวใบไม้อ่อน กว่า 140 คน และผู้ปกครองที่มาสังเกตุการณ์อยู่นอกหอประชุม ต้องทำตัวเป็นพิเศษ เนื่องจากนายเอกรัฐ หลีเส็น นายอำเภอละงู จังหวัดสตูล มาเปิดค่ายเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมดังกล่าว

ก่อนจะตามด้วยการให้สลาม “อัสลามูอาลัยกุมวารอมาตุลลอฮีวาบารอกาตุ” แก่นายเอกรัฐ หลีเส็น นายอำเภอละงู นายวีระ ขุนไชยรักษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา นายวินัย นุ้ยไฉน ผู้ใหญ่บ้านตะโละใส นายเจ๊ะตาด กองบกผู้ใหญ่บ้านท่ามาลัย นายสนั่น มัจฉา โต๊ะอีหม่ามมัสยิดบ้านตะโละใส นายอดุลย์ ประเสริฐดำ โต๊ะอีหม่ามมัสยิดท่ามาลัย และนายไกรวุฒิ ชูสกุล ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่

ตามด้วยเพลงพลังใจ ที่ดังกระหึ่ม “ดังสายลมที่พัดผ่านลานป่า พาใบไม้พลัดถิ่น ดังสายน้ำที่ไหลรินพัดพา นำดวงใจฉันมาใกล้เธอ ความหวังดีที่เธอให้สังคม ฉันชื่นชมเธอเสมอ เพื่อพี่น้องผู้ที่ยากไร้ รวมดวงใจของเราฟันฝ่า...”

นายหุดดีน อุสมา ประธานโครงการค่ายเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งที่ 1 ปฏิบัติการเด็กรักษ์บ้านเกิด บอกถึงจุดประสงค์ของการจัดค่ายกิจกรรมครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการให้เยาวชนในตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้เรียนรู้เพื่อรู้จักชุมชนของตัวเองมากยิ่งขึ้น

“อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมร่วมกันให้สอดคล้องกับศักยภาพ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน” นายหุดดีน กล่าว

นายเอกรัฐ หลีเส็น นายอำเภอละงู เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนของตัวเอง เพราะบางสิ่งในชุมชนอาจจะเห็นแค่เพียงผิวเผิน ผ่านตา ผ่านหู แต่ไม่ได้สังเกตุ ไม่รู้ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัว

จากนั้น นายวีระ ขุนไชยรักษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ได้กล่าวกับเด็กๆ ว่า กิจกรรมเป็นกิจกรรมดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเป็นค่ายสิ่งแวดล้อมตรงกับหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และลงวิจัยในพื้นที่ชุมชน

“ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการปลูกเมล็ดกล้าสีเขียวที่ในอนาคตจะเจริญเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในวันข้างหน้า” นายวีระ กล่าว

ปิดท้ายด้วยการร่วมอ่านดุฮ์อาโดยนายสนั่น มัจฉา โต๊ะอีหม่ามมัสยิดบ้านตะโละใส และนายอดุลย์ ประเสริฐดำ โต๊ะอีหม่ามมัสยิดบ้านท่ามาลัย

15.30 น. แสงแดดทอแสงประกายระยับ ลมทะเลพัดในบางช่วง นายนันพล เด็นเบ็ญ มัคคุเทศน์อิสระ นำกลุ่มเด็กลงพื้นที่สำรวจปูทหารปากบารา บริเวณชายหาดปากบารา นายไกรวุฒิ ชูสกุล ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เดินนำหน้าเด็กที่อยู่ในฐานป่าชายเลนไปสำรวจป่าชายเลนที่บ้านท่ามาลัย ส่วนฐานประมงพื้นบ้าน และฐานทรัพยากรชายฝั่ง เด็กๆ ต่างแห่ไปฟังเรียนรู้ที่ท่าเรือประมงที่ปากบารา โดยให้ชาวบ้านบอกเล่า

สำหรับที่เด็กที่อยู่ในกลุ่มฐานซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) ขึ้นรถยนต์ไปใกล้ๆ กับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ที่ “ครูนก” นายธรรมรัตน์ นุตะธีระ และคณะนักเรียนจากโรงเรียนกำแพงวิทยา เตรียมพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่มาให้ศึกษาถึงที่ ถึงขนาดจะลงสำรวจจริงในถ้ำใกล้ๆ แต่น้ำทะเลเกิดหนุนสูงไม่สามารถเข้าไปได้

“ราๆๆ ปากบารา อิทำท่าอิราร่วงโรย เลๆๆ สตูล อิสูญอิหม๊อดแล้วเหว้อ...อุตสาหกรรมที่ทำลายมันย่างกรายมาแล้วเหว้อ...” เป็นบทเพลงชื่อ ไม่เอา ของดำ สตูล ที่มาขับกล่อมให้ฟังเป็นการโหมโรงในช่วงกลางคืน

ตามด้วยบทเพลง อย่าทำร้ายปากบาราสงสารเภตรา ของแอม ฟอมาลีน “...อุทยานเกาะเภตราเขาสั่งมาให้ยกเจ้าออกไป เพื่อท่าเรือแสนยิ่งใหญ่...หยุดทำร้ายปากบารา หยุดเข่นฆ่าทะเลอันดามัน เพื่อท่าเรือที่ใหญ่ดั่งฝัน ให้นายทุนนั้นเข้ามากอบโกย...”

จากนั้นก็เป็นการเรียกให้แต่ละกลุ่มที่ลงพื้นที่ออกมานำเสนอโดยการแสดงในรูปแบบละคร “บุมละบุมๆๆ แม่เนื้อนุ่มบัวบาน...เจ้าดอกเอยเจ้าดอกหลิว ขอเชิญกลุ่มฟอสซิลออกมาแสดงเอย”

กลุ่มฟอสซิลนำเสนอว่า มีอาจารย์สอนนักเรียนและเข้าไปสำรวจฟอสซิลภายในถ้ำ ส่วนกลุ่มปูทหารนำเสนอว่า มีนักข่าวลงมาทำข่าวการค้นพบปูทหารพันธุ์ใหม่ของโลกที่ชายหาดปากบารา สำหรับกลุ่มประมงพื้นบ้านนำเสนอในเชิงที่ชาวบ้านมานั่งบ่นถึงทรัพยากรที่ลดน้อยลงจากเรือประมงขนาดใหญ่ และเหมารวมถึงท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่จ่อจะสร้าง เป็นต้น

เด็กหญิงสุวรรณา แก้วรัตนะ นักเรียนจากโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล บอกถึงสิ่งที่ได้รับการการเข้าค่ายสิ่งแวดล้อมว่า ตนได้รู้จักเพื่อนๆ จากหลายชุมชน ได้ลงหมู่บ้านมากขึ้น ได้เรียนรู้ถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นว่ามีคุณค่าอย่างไร ทำให้เกิดความรักษ์และหวงแหนสิ่งที่เคยมองข้ามมากยิ่งขึ้น

บ่าย 3 โมง ของวันที่ 8 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของค่ายสิ่งแวดล้อมมาถึง บรรยากาศกลับเต็มไปด้วยความหมองเศร้า อาวรณ์ ผูกพันธ์ระหว่างเด็กกับเด็ก เด็กกับรุ่นพี่นักศึกษา ชาวบ้านกับนักศึกษา

คำซอลาวัต (สรรญเสริญ) นบี (มูฮัมหมัด) ดังประสานเสมือนเป็นการร่ำลา พร้อมๆ กับน้ำตาที่ไหล เสียงร้องไห้ระงมของเด็ก ขณะนักศึกษา และชาวบ้านพยายามกลั้นน้ำตา ทว่าปริ่มเบ้า “ซอลลอลลอฮูอาลามูฮัมหมัด ซอลลอลลอฮูอาลัยวาซัลลัม ซอลลอลลอฮูอาลามูฮัมหมัด...”

นั่นคือบรรยากาศค่ายเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งที่ 1 ปฏิบัติการเด็กรักษ์บ้านเกิด ซึ่งจัดโหมโรงก่อนวันเด็กแห่งชาติ 14 มกราคม ขณะที่นโนบายของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชัดเจนยืนยันเดินหน้า “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล”

ย้อนมองเหตุการณ์ที่ลานหอยเสียบ “จะนะ” และหน้าโรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ กรณีท่อก้าซไทย - มาเลเซียแล้วใจหายวาบ ทว่ามองไปข้างหน้าถึงความน่าจะเป็นที่จุดชมวิวลาน 18 ล้านปากบาราน่ากลัวยิ่งกว่าหลายร้อยเท่าทวี
ท่าเรือประมงปากบารา


กำลังโหลดความคิดเห็น