xs
xsm
sm
md
lg

ชายชื่อ “เจ๋ง-ประเสริฐ ฤทธิ์สำเริง” นักอนุรักษ์...สุดติสท์ คอลัมน์ส่องฅนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเสริฐ ฤทธิ์สำเริง
ชายชื่อ “เจ๋ง-ประเสริฐ ฤทธิ์สำเริง”
นักอนุรักษ์...สุดติสท์

โดย จารยา บุญมาก

หนังสือที่วางซ้อนกันเป็นชั้น จนดูกลมกลืนคล้ายเป็นฝากั้นห้องแต่ละห้องในบ้านสวนที่ล้อมรอบด้วยต้นไม้หลากสายพันธุ์ และตัวอาคารสร้างด้วยประติมากรรมจากเศษไม้สารพัดแบบตกแต่งอย่างลงตัว คือ บ้านของ ประเสริฐ ฤทธิ์สำเริง หรือ “ลุงเจ๋ง” กรรมการสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อใครๆ ได้มาเยือน ก็ต้องบอกได้เลยว่า “แนวคิดออกแบบบ้านนี่เจ๋งสมชื่อจริงๆ”

หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาชายวัย 67 ปี คนนี้ผ่านสื่อต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของกิจกรรมสาธารณะ และกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม ทั้งนักพัฒนาสิ่งแวดล้อม นักอนุรักษ์เมืองเก่า และแม้แต่ครูสอนศิลปะ ทุกรูปแบบ แต่เมื่อถามเจ้าตัว ลุงเจ๋งกลับบอกอย่างไม่ลังเลว่า ตนเองก็เป็นแค่ “คนบ้า” คนหนึ่งที่คิดว่าอยากจะทำอะไรๆ ให้สังคมไทยน่าอยู่ และสิ่งที่ทำได้ก็ไม่ไช่เรื่องเงินเรื่องทองแต่เป็นแค่แนวคิดและความรู้เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
ตัวอย่างกรุงเก่า
ลงุเจ๋ง พยายามกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นหันมาใส่ใจในการอนุรักษ์เมืองเก่าเพื่อคงไว้ซึ่งความงามให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึงอดีตและมีโอกาสสัมผัสอารยธรรมและวัฒนธรรมชุมชนทั้งเรื่องอาหารชีวิตความเป็นอยู่ ภาษา และกิจกรรมทางชุมชนที่เป็นไปแบบวิถีดั้งเดิม โดยปราศจากการเข้าครอบงำของนายทุนที่พยายามก่อสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อธุรกิจและการค้า ไม่ว่าจะเป็นชุมชนท่าช้าง ชุมชนบางลำพู ตลาดบางเส็ง นางเลิ้ง เยาวราช ใน กทม. ตลาดสามชุก จ.สุพรรณบุรี ตลาดปากบางหมื่นหาร จ.สิงห์บุรี ชุมชนพิมาย จ.นครราชสีมา ฯลฯ ชุมชนเหล่านี้ ลุงเจ๋งและเครือข่ายในสมาคมล้วนเริ่มต้นเข้าไปพบปะคนในชุมชนเมื่อมีโอกาส

“ตลาดปากบาง-หมื่นหาญ คือ ตลาดเก่าแก่ที่ถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี โดยตลาดน้ำแห่งนี้นั้น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีความเจริญมาช้านานคู่กับตำบลพรหมบุรี ซึ่งหากช่วยกันอนุรักษ์ก็จะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ดีมาก ซึ่งประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน เริ่มมองเห็นคุณค่าของเมืองเก่าถึงขั้นลงทุนสร้างชุมชนขึ้นมาเพื่ออธิบายความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศแล้ว ดังนั้นจึงเป็นการดีที่ไทยมีทรัพยากร มีของจริงอยู่ในมือ ไม่จำเป็นต้องปรุงแต่งมากนัก ซึ่งคนไทยทั้งภาครัฐและชุมชนควรเห็นคุณค่าในสิ่งที่มีอยู่แล้วถนอมไว้ให้ดี ” ลุงเจ๋งย้ำ

การก้าวเดินไปบนเส้นทางสายอนุรักษ์ชุมชน ที่ผ่านมาหลายพื้นที่ถูกกล่าวขานผ่านสื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้สังคมรับรู้ แต่บ่อยครั้งที่กระแสการตอบรับกลับกลายเป็นความหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวทั้งชายไทยและชาวต่างชาติ เมื่อมองในมุมหนึ่ง ลุงเจ๋ง มองว่าเป็นข้อดีที่ทำให้เศรษฐกิจ ไทยรุ่งเรือง ทว่าต้องมีการควบคุมบ้าง เพราะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวก็มาพร้อมกับธุรกิจเสมอ ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐพึ่งทำก็คือ การจำกัดนักท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม ไม่ให้พื้นที่เก่าแก่ของไทยต้องบอบช้ำเกินแก้
ห้องสมุด
ไม่ใช่แค่กิจกรรมอนุรักษ์เชิงสถาปัตยกรรมเท่านั้นที่ลุงเจ๋ง มองว่าสำคัญ แต่การดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงทั้งการทำเกษตรพื้นบ้าน การปลูกต้นไม้นานาชนิด การทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพไว้ในบ้านสวนหลังขนาดกลาง รวมทั้งเปิดสอนศิลปะแก่เด็กๆ ที่สนใจก็ยังเป็นกิจกรรมโปรดที่ไม่อาจตัดขาดจากชีวิตได้

สำหรับที่บ้านลุงเจ๋ง เป็นบ้านสวน ขนาด 50 ไร่ ที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี คือ อีกหนึ่งพื้นที่การอนุรักษ์วิถีชาวบ้านที่อธิบายความเป็นธรรมชาติและเป็นพื้นที่ทัศนศึกษาขนาดใหญ่ที่ ลุงเจ๋ง ภูมิใจกับการเปิดบริการแก่ประชาชนทั่วไปให้ได้ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ได้ฟรี พื้นที่แห่งนี้โอบล้อมด้วยต้นไม้กว่า 300 ต้น ถูกจัดสรรแบ่งเป็นบ้าน 6 หลัง มีบ้านพักขนาดใหญ่บรรจุคนได้ 50 คน เพื่อทำกิจกรรมตามใจชอบ และยังมีพื้นที่เป็นนา ไร่ สระน้ำ ลำธาร และเป็นป่าสำหรับศึกษาธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งมีอาคารห้องสมุดไว้เอใจคนรักการอ่านอย่างเต็มที่ ซึ่งประชาชนหรือหน่วยงานใดสนใจทำกิจกรรม เช่น ทำค่ายเยาวชน หรือตั้งแคมป์จัดกิจกรรมอาสาพัฒนา ประชุมกลุ่ม ก็มีบริการตลอดปี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงแค่สละเวลาในการทำความสะอาดและช่วยกันดูแลรักษาก็เพียงพอแล้วสำหรับค่าตอบแทน หรือหากใครไปค้างแรม แล้วไม่อยากหอบสัมภาระกลับ อยากจะทิ้งเต้นท์ไว้ให้คนอื่นได้ใช้ประโยชน์ก็สามารถทำได้
บรรยากาศบ้านสวน
ส่วนผู้ที่สนใจเดินทางไปที่ บ้านสวนลุงเจ๋ง สามารถเดินทางออกจาก กทม.เป็นระยะทางประมาณ 180 กม.ใช้เวลาเดินทางราว 2 ชั่วโมง ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 ไปสู่จ.ฉะเชิงเทรา เลี้ยวเข้า อ.พนมสารคาม แล้วเลี้ยวขวาเข้าทาง ต.วังตะเคียน บ่อทอง เจอแยกเลี้ยวซ้ายเข้าไปทางวังดินสอ ประมาณ 5 กม.ก็จะมีป้ายระบุไว้ว่า “บ้านลุงเจ๋ง” หรือสอบถามเพิ่มเติมที่เบอร์ตรง 08-1345-4320 ซึ่งบ้านสวนหลังนี้จะน้อมรับทุกคนอย่างเป็นมิตร หากกิจกรรมนั้นๆ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น