รมช.สธ.เตรียมหารือหน่วยงานเพื่อแก้กฎหมายให้สามารถจำหน่ายเนื้อปลาปักเป้าได้ เผยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถผลิตชุดทดสอบพิษปลาชนิดนี้ได้แล้ว แถมพิษของปลาปักเป้าจะออกมาในบางฤดูกาล ระบุปลาปักเป้าติดอวนชาวประมงวันละ 100-150 ตัน หากขายได้จะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
วันนี้ (17 ก.พ.)นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4 จังหวัดสมุทรสงคราม
นพ.สุรวิทย์กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมในวันนี้ได้รับทราบจากรายงานว่าพี่น้องชาวประมงในละแวกจังหวัดสมุทรสงครามได้ปลาปักเป้าที่ติดมากับอวนวันละ 100-150 ตัน ซึ่งถือว่ามีปริมาณมาก หากตีมูลค่าออกมากิโลกรัมละประมาณ 70 บาทถึง 300 บาท จะได้มูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่ขณะนี้ได้รับทราบว่ายังมีปัญหาในเรื่องของข้อห้ามกฎหมาย ไม่สามารถจำหน่ายเนื้อปลาปักเป้าได้ และถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทั้งที่ปลาปักเป้านั้นจะมีพิษออกมาบางช่วงฤดูกาล และประการสำคัญขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาเครื่องมือในการตรวจหาสารพิษในปลาปักเป้าเป็นผลสำเร็จแล้ว เป็นชุดทดสอบภาคสนาม ขั้นตอนการตรวจไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาทีก็ทราบผล
“เพราะฉะนั้น ในเรื่องดังกล่าวนี้ผมในฐานะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะนำปัญหานี้ไปปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อกฎหมาย เพื่อที่จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ปลาปักเป้าที่ติดมากับอวนของชาวประมงในจังหวัดสมุทรสงครามและใกล้เคียง รวมถึงประเทศได้” นพ.สุรวิทย์กล่าว
นพ.สุรวิทย์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังพร้อมให้ความร่วมมือกับพื้นที่ในการขยายแพปลาในจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อดูแลความปลอดภัยของอาหารทะเลต่างๆ โดยได้มอบหมายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4 จังหวัดสมุทรสงคราม ให้การสนับสนุนทางเรื่องเทคนิค วิชาการอย่างเต็มที่